Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงหลักความได้สัดส่วนว่ามีอยู่หรือไม่ในระบบกฎหมายไทย หลักกฎหมายดังกล่าวมีองค์ประกอบและผลทางกฎหมายอย่างไร มีขอบเขต และนำไปใช้ในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายปกครองได้เพียงใด ในส่วนแรก เป็นการศึกษาแนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับหลักความได้สัดส่วนในระบบกฎหมายของต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ระบบกฎหมายเยอรมัน ระบบกฎหมายฝรั่งเศส และระบบกฎหมายของสหภาพยุโรป เพื่อนำมาเป็นพื้นฐานทางความรู้ในการค้นคว้าหาหลักฐานกฎหมายดังกล่าวว่ามีอยู่หรือไม่และมีอยู่ที่ใดในระบบกฎหมายไทย จากการศึกษาระบบกฎหมายเยอรมัน ฝรั่งเศส และสหภาพยุโรป พบว่าหลักความได้สัดส่วนเป็นหลักกฎหมายที่สำคัญของประเทศที่มีการปกครองภายใต้หลัดนิติรัฐและได้รับการยอมรับว่ามีสถานะทางกฎหมายเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่นำมาใช้ในฐานะที่เป็นข้อจำกัดของการใช้อำนาจรัฐให้มีความเหมาะสม จำเป็น และได้สัดส่วนระหว่างเหตุและผล ซึ่งหลักความได้สัดส่วนประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หลักความเหมาะสม หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ ในระบบกฎหมายไทย เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์และองค์ประกอบของหลักความได้สัดส่วนในระบบกฎหมายของต่างประเทศ ทำให้สามารถพบบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักความได้สัดส่วนปรากฏอยู่ในระบบและยังไม่มีการวางหลักเกณฑ์ ขอบเขต องค์ประกอบ และผลของหลักกฎหมายนี้ไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์สำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน พบว่า มีการนำหลักความได้สัดส่วนมาบัญญัติไว้ในมาตรา 29 โยบัญญัติเป็นข้อจำกัดในการใช้อำนาจรัฐว่าจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น จึงทำให้ความมีอยู่และสถานะทางกฎหมายของหลักความได้สัดส่วนในระบบกฎหมายไทยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เมื่อศึกษาต่อไปถึงแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลปกครองไทย พบว่า มีการนำหลักความได้สัดส่วนมาใช้ในฐานะเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จะต้องเคารพและปฏิบัติตาม การใช้อำนาจที่มีลักษณะเป็นการละเมิดต่อหลักความได้สัดส่วน เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง