Abstract:
การเช่าซื้อเป็นรูปแบบของการจำหน่ายสินค้าระบบเงินผ่อนที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่โดยเหตุที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับโดยตรงกับสัญญาเช่าซื้อเพียงไม่กี่มาตรา ทำให้ต้องนำหลักกฎหมายอื่นมาปรับใช้กับนิติสัมพันธ์ของสัญญาเช่าซื้อด้วย การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงการปรับใช้หลักกฎหมายที่มีอยู่เกี่ยวกับความรับผิดของคู่สัญญาเมื่อสัญญาเช่าซื้อระงับอันเนื่องจากทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายว่าก่อให้เกิดผลอย่างไรตลอดจนได้สร้างความเป็นธรรมที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ผลการวิจัยพบว่าการนำหลักกฎหมายที่มีอยู่ในเรื่องลาภมิควรได้มาปรับใช้กับความรับผิดของคู่สัญญาในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อระงับลง เพราะเหตุทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายโดยที่มิได้เกิดจากความผิดของคู่สัญญาฝ่ายใดนั้นยังขาดความชัดเจน ในส่วนของเงินค่าเช่าซื้อที่มีการชำระกันไปแล้วก่อนที่สัญญาจะระงับนั้น จะต้องคืนกันหรือไม่ อย่างไร จึงทำให้ไม่อาจสร้างความเป็นธรรมให้แก่นิติสัมพันธ์ของสัญญาเช่าซื้อได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งอาจมีปัญหาจากการปรับใช้หลักกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรณีเช่นนี้ด้วย การวิจัยนี้จึงได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขดังนี้คือ (1) กำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานกลางเพื่อใช้บังคับกับกรณีดังกล่าว โดยกำหนดให้มีการนำค่าใช้ทรัพย์ (ถ้ามี) อันเกิดจากการที่ผู้เช่าซื้อได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ที่เช่าซื้อในช่วงระยะเวลาก่อนที่ทรัพย์จะสูญหายมาหักลบออกจากเงินดาวน์และเงินค่าเช่าซื้อที่มีการชำระมาแล้วก่อนที่สัญญาจะระงับ ซึ่งหากมีเงินค่าเช่าซื้อเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนเท่าใด จึงให้คืนแก่ผู้เช่าซื้อไปในฐานที่เป็นลาภมิควรได้ (2) ส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยความเสียหายสำหรับกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญ หาย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงไปบังบริษัทประกันภัย