Abstract:
งานวิจัยนี้ได้เตรียมเส้นใยไทเทเนียมไดออกไซด์ด้วยเทคนิคอิเล็กโทรสปินนิงผ่านกระบวนการ sol-gel จากปฏิกิริยาของไทเทเนียมเตตระไอโซโพรพรอกไซด์และพอลิไวนิลไพรโรลิโดน แล้วทำการเผา เพื่อนำไปใช้เป็นวัฏภาคนิ่งในเทคนิคทินแลร์โครมาโทกราฟี จากการศึกษาโครงสร้างผลึกของเส้นใยไทเทเนียม ไดออกไซด์ที่ผ่านการเผาที่อุณหภูมิต่างๆ ด้วยเทคนิค X-ray powder diffraction พบว่า เส้นใยไทเทเนียม ไดออกไซด์มีโครงสร้างผลึกแบบอะนาเทสเมื่อทำการเผาที่อุณหภูมิ 400 และ 500 องศาเซลเซียส และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลึกจากอะนาเทสเป็นรูไทล์ เมื่ออุณหภูมิการเผามากกว่า 500 องศาเซลเซียส โดย โครงสร้างผลึกของเส้นใยไทเทเนียมไดออกไซด์ส่วนใหญ่เป็นแบบรูไทล์เมื่อทำการเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส จึงสามารถสรุปได้ว่าอุณหภูมิในการเผามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลึกของเส้นใย เมื่อนำเส้นใยไทเทเนียมไดออกไซด์มาใช้เป็นวัฏภาคนิ่งในเทคนิคทินแลร์โครมาโทกราฟี (Ti-TLC) และเปรียบเทียบกับแผ่น ทินแลร์โครมาโทกราฟีทั่วไปที่ใช้อนุภาคซิลิกาเป็นวัฏภาคนิ่ง (Si-TLC) พบว่า ความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัฏภาคเคลื่อนที่บนแผ่น Ti-TLC มีค่าคงที่ในการเคลื่อนที่ (k) 0.044-0.073 cm²/s มากกว่าแผ่น Si-TLC ซึ่งมีค่า 0.028 cm²/s และค่า k ของแผ่น Ti-TLC ที่ผ่านการเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส มีค่าสูงสุด สำหรับการแยกเมทิลินบลูไฮเดรตซึ่งเป็นตัวแทนของสารประกอบกลุ่มเบส พบว่า เมทิลินบลูไฮเดรตมีค่ารีทาร์เดชันแฟคเตอร์ (Rf) บนแผ่น Ti-TLC (Rf = 0.87-0.93) มากกว่าแผ่น Si-TLC (Rf = 0.05) และการแยกสารบน Ti-TLC ที่มีโครงสร้างของไทเทเนียมไดออกไซด์แบบอะนาเทสและรูไทล์ ได้ค่า Rf ที่ไม่แตกต่างกัน