Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของกิจกรรมการผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก โดยพิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อพื้นที่เมืองและชนบท จากการดำเนินกิจกรรมของอุตสาหกรรมโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดรายได้ (ทางตรง ทางอ้อม และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของรายได้ทางตรงและทางอ้อม) ผ่านการจ้างแรงงานและการซื้อปัจจัยการผลิต ตลอดจนพิจารณาความเชื่อมโยง ระหว่างพื้นที่ การดำเนินกิจกรรมจากการกระจายผลผลิตและการใช้ปัจจัยการผลิตของกิจกรรมดังกล่าว การศึกษาได้แบ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างออกเป็น 3 กลุ่มอำเภอ โดยใช้ความมากน้อยของพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ได้แก่ กลุ่มอำเภอเพาะปลูกข้าวหอมมะลิมาก (กลุ่มอำเภอที่ 1) กลุ่มอำเภอเพาะปลูกข้าวหอมมะลิปานกลาง (กลุ่มอำเภอที่ 2) และกลุ่มอำเภอเพาะปลูกข้าวหอมมะลิน้อย (กลุ่มอำเภอที่ 3) และใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม โดยสุ่มตัวอย่างจากกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการโรงสีข้าวขนาดใหญ่ เกษตรกร คนงาน ชาวเมืองและชาวชนบทจากกลุ่ม อำเภอต่าง ๆ การวิเคราะห์ผลกระทบทำโดยใช้ค่า Value Added Ratio จากตารางปัจจัยเข้า-ปัจจัยออก เพื่อหา Income Generators ซึ่งนำมาคำนวณค่าตัวคูณทวีตามทฤษฎีฐานเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการดำเนินการผลิตและการกระจายผลผลิต ตลอดจนศึกษาแหล่งผลิตและแหล่งตลาดของสินค้าและบริการที่เป็นผลจากการผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก ผลการวิจัยพบว่า การดำเนินกิจกรรมการผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก สามารถก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ชนบทของกลุ่มอำเภอที่เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิมาก (กลุ่มอำเภอที่ 1) มากที่สุด และผล กระทบในพื้นที่เมืองจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นแหล่งที่ตั้งโรงสีข้าวขนาดใหญ่มากที่สุด (กลุ่มอำเภอที่ 2) ซึ่งการขยายตัวของการผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก ทำให้พื้นที่ซนบทได้รับผลกระทบมากจากการใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ (ข้าวเปลือกหอมมะลิ) ในขณะที่พื้นที่เมืองได้รับผลกระทบมากเช่นกัน จากการให้บริการและสินค้าระดับเมืองกับโรงสี ชาวเมือง แรงงาน ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ยังพบว่าการดำเนินกิจกรรมการผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศแต่ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแหล่งตลาดค้าส่งภายในประเทศให้กับภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย และเป็นที่ตั้งสำนักงานผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ และมีความเชื่อมโยงเชื่อมโยงกับพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งมีท่าเรือที่สำคัญในการขนส่งไปยังต่างประเทศต่อไป สำหรับความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ พบว่า ผลพลอยได้ที่สำคัญจากการผลิตข้าวหอมมะลิ ได้แก่ รำข้าวและปลายข้าว มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในภาคกลางมากที่สุด