Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเปรียบเทียบบทละครของเชคอฟเรื่อง The Three Sisters และ The Cherry Orchard กับบทละครของชอว์เรื่อง Major Barbara และ Heartbreak House ตามวัตถุประสงค 3 ประการ คือ เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอิทธิพลระหว่างวรรณกรรมข้ามชาติ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบจิตสำนึกทางสังคมของนักเขียนที่ปรากฎในบทละครและเพื่อวิเคราะห์บทละครโดยใช้ความรู้ทางสังคมศาสตร์สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสต์ จากการศึกษาพบว่า นักเขียนทั้งสองมีกลวิธีการนำเสนอคล้ายกันก่อนการรับอิทธิพลคือการสร้างตัวละครกลุ่มและการนำเสนอพฤติกรรมภายในของมนุษย์ กลวิธีที่ชอว์รับอิทธิพลจากเชคอฟ ได้แก่ การสร้างโครงเรื่อง การเสนอตัวละครเขลาที่ไม่รู้ปัญหาสังคม การสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ และการใช้ภาษาสองนัย ในการประพันธ์เรื่อง Heartbreak House ซึ่งเป็นบทละคร ที่รับอิทธิพลจากเชคอฟ ชอว์ได้พัฒนากลวิธีเหล่านี้ของเชคอฟและยังคงใช้กลวิธีที่เป็นเอกลักษณ์ของตน เขาเขียนบทละครเรื่องนี้ โดยแสดงตัวตนของผู้ประพันธ์ และนำเสนอน้ำเสียงของเรื่องที่สนุกสนาน ขบขัน ซึ่งต่างจากกลวิธีที่มีชื่อเสียงของเชคอฟ คือการนำเสนอแบบภววิสัยและใช้น้ำเสียงเศร้าหมอง หดหู่ จากการเปรียบเทียบจิตสำนึกทางสังคมของนักเขียนในบทละคร พบว่านักเขียนทั้งสองนำเสนอปัญหาสังคมในช่วงวิกฤตการณ์คล้ายกัน ทั้งความสัมพันธ์อันเหินห่างระหว่างสมาชิกในสังคม ความขัดแย้งในด้านวัฒนธรรมทางความคิด และความเสือมของประเทศ นอกจากนี้ บทละครยังสะท้อนให้เห็นข้อบกพร่องของคนในสังคมในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ ได้แก่ การขาดความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก การรับรู้ปัญหาสังคมโดยขาดวิจารณญาณ การไม่ปรับปรุงสังคมโดยการปฏิบัติจริง และการเห็นแก่ประโยชนส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม นักเขียนทั้งสองได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมแก่ผู้อ่าน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันบกพร่องและการเปลี่ยนแปลงค่านิยมใน สังคม ได้แก่ วัตถุนิยม ค่านิยมด้านศีลธรรม ค่านิยมด้านการศึกษา การตัดสินคนในสังคมตามชนชั้น บทละครของเชคอฟเสนอให้เปลี่ยนแปลงค่านิยมหลายด้านกว่าบทละครของชอว์ โดยได้เสนอให้หาความหมายใหม่ของการทำงาน ความรัก และขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยมทั้งสามด้านจำเป็นต่อการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมรัสเซียในยุคสมัยใหม่ต่อไป ยิ่งกว่านั้นการศึกษาบทละครโดยใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสต์ของโรเบิร์ต คอกซ์ยังทำให้เข้าใจความขัดแย้งในบทละครซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในสังคมในยุคที่เกิดวิกฤตการณ์ ในบทละครของเชคอฟมีคู่ขัดแย้งหลักคือกลุ่มขุนนางและชนชั้นกลาง ในขณะที่ตัวละครอื่นซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มปัญญาชน คนหนุ่มสาว และชนชั้นล่างก็แสดงปฏิกิริยาเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะต้องการสถานภาพและบทบาททางสังคมที่พวกเขาพอใจ ในบทละครของชอว์พบความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มเสรีนิยม ซึ่งต่างมุ่งหวังที่จะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทนำในสังคมอังกฤษ