Abstract:
ในปี พ.ศ. 2550 พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำท่ากระจาย อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการสร้างเขื่อนที่ยื่นลงในไปทะเล (Jetty) เพื่อรักษาสภาพปากแม่น้ำให้มีเสถียรภาพ ไม่เกิดการเคลื่อนตัวตามฤดูกาล โดยบริเวณชายฝั่งที่อยู่ใต้โครงสร้างที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจึงได้ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น (Breakwater) และเขื่อนหินทิ้ง (Revetment) งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งตั้งแต่ อ.ท่าชนะ จนถึง อ.ไชยา ติดตามการสะสมตัวและการกัดเซาะของตะกอนในช่วงระยะเวลาก่อนและหลังการก่อสร้างเพื่อนำมาเปรียบเทียบหาอัตราการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง ที่สามารถอธิบายบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบริเวณปากน้ำท่ากระจายได้ โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศประยุกต์ใช้กับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS) อีกทั้งข้อมูลจากภาคสนามเพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพของตะกอน การวัดความลาดชันของชายฝั่ง และการสะสมตัวของชั้นตะกอน จากการประยุกต์ใช้ GIS และการเก็บข้อมูลจากภาคสนาม เมื่อนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ได้ว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งในพื้นที่ศึกษา เกี่ยวข้องกับระยะทางของการพัดพาตะกอนจากบริเวณปากน้ำท่ากระจายเป็นหลัก รองลงมาคือลักษณะธรณีสัณฐานของพื้นที่ชายฝั่ง เพราะการก่อสร้างโครงสร้างเขื่อนบริเวณปากน้ำใหญ่ทำให้พื้นที่ทั้งด้านเหนือและด้านใต้โครงสร้างได้รับผลกระทบจากการรบกวนกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่ง พื้นที่ที่มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงบริเวณปากน้ำท่ากระจายคือบริเวณใกล้โครงสร้างทั้งเหนือและใต้โครงสร้างมีอัตรากัดเซาะเพิ่มขึ้น 0.5-1.7 เมตรต่อปี ทางตอนกลางของพื้นที่ มีอิทธิพลจากการเปลี่ยนตำแหน่งปากคลองและการได้รับตะกอนจากปากคลองในบริเวณนั้นมากกว่า และทางตอนใต้ของพื้นที่ศึกษาอยู่ไกลโครงสร้างด้วยการไหลของกระแสน้ำเลียบชายฝั่งเปลี่ยนแปลงไป สมดุลตะกอนเข้าออกฝั่งจึงถูกรบกวนทำให้อัตรากัดเซาะเพิ่มขึ้น 0.05-2.3 เมตรต่อปี บางแห่งตะกอนยังคงเป็นพื้นที่สะสมตัวแต่อัตราสะสมตัวน้อยลง แต่บางแห่งกลายเป็นพื้นที่ที่เกิดการกัดเซาะ