Abstract:
การศึกษาเรื่องแนวทางการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในเขตเทศบาลเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษารูปแบบการกระจายตัวทางพื้นที่ของการเกิดอัคคีในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 2) เพื่อประยุกต์ใช้วิธีการทางผังเมืองและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เสียงต่อความเสียหายจากการเกิดอัคคีภัยในเขตพื้นที่เทศบาลเชียงใหม่ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการจัดพื้นทีเสี่ยงอย่างเหมาะสม 3) เพื่อศึกษาเสนอแนะวิธีการที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของพื้นที่เมื่อเกิดอัคคีภัยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการกระจายตัวทางพื้นที่ของการเกิดอัคคีภัยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่จากข้อมูลสถิติการเกิดอัคคีภัยช่วงระหว่างปี พ.ศ 2543-2547 มีอัคคีภัยที่เกิดขึ้นในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนทั้งหมด 257 ครั้ง สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของประชาชนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 78 ล้านบาท ในด้านปัจจัยความอ่อนแอทางพื้นที่ของเทศบาลเชียงใหม่ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความอ่อนแอของสิ่งปลูกสร้าง ความอ่อนแอของการใช้ประโยชน์อาคาร ความอ่อนแอต่อการเข้าถึง ความอ่อนแอของการประกอบกิจกรรมเสียง และความอ่อนแอของคน พบว่า อาคารไม้เป็นอาคารที่มีความอ่อนแอสูงต่อการเกิดอัคคีภัยมากกว่าอาคารประเภทอื่นๆ อัคคีภัยส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของอาคารสูงโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์อาคารประเภทที่อยู่อาศัยที่มีความสูงไม่เกิน 4 ชั้น ที่อยู่บริเวณถนนแคบและซอยตัน และพื้นที่มีความหนาแน่นประชากรสูง รูปแบบการกระจายตัวทางพื้นที่ของอัคคีภัยของแขวงนครพิงค์ โดยเฉพาะบริเวณตำบลช้างเผือก มีรูปแบบการกระจายตัวใกล้เคียงกับรูปแบบการกระจายตัวแบบเกาะกลุ่มอยู่ภายในพื้นที่มากกว่าตำบลอื่นๆ
การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จากปัจจัยหลัก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านความอ่อนแอของพื้นที่ และปัจจัยด้านความสามารถในการรองรับปัญหา โดยไม่ละทิ้งพื้นที่ที่เคยมีประวัติการเกิดอัคคีภัยมาก่อน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์แบบ Potential Surface Analysis หรือ PSA พบว่า ในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ไม่ปรากฏพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพื้นที่ที่มีระดับความเสี่ยงต่ออัคคีภัยในระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 48 ของพื้นที่เทศบาล โดยกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ตำบลช้างเผือกและตำบลสุเทพมากที่สุด ขณะที่พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยระดับตามพื้นที่เพียงร้อยละ 5 ของพื้นที่เทศบาล จะปรากฏอยู่บริเวณพื้นที่ที่ติดกับถนนสายหลักและแม่น้ำปิง การศึกษาแนวทางการป้องกันและบรรเทาการเกิดอัคคีภัยประกอบด้วย 2 วิธี คือ วิธีป้องกันและบรรเทาภัยแบบใช้โครงสร้าง ได้เสนอแนวทางสองแนวทาง คือ การศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการตั้งสถานีดับเพลิงแห่งใหม่และพื้นที่เหมะสมต่อการสร้างหัวประปาดับเพลิงเพิ่ม ส่วนวิธีป้องกันและบรรเทาภัยแบบไม่ใช้โครงสร้าง เป็นการศึกษาพฤติกรรมการรับรู้ของประชาชน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานดับเพลิงเกี่ยวกับความรับรู้เรื่องการป้องกันและบรรเทาการเกิดอัคคีภัย พบว่า ประชาชนและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานดับเพลิง มีพฤติกรรมการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาอัคคีภัยเป็นอย่างดี และสัมพันธ์กับการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติการเกิดอัคคีภัย