Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาผลกระทบของการละครเบรคชท์ที่มีต่อละครไทยร่วมสมัยซึ่งเกิดจากการรับอิทธิพลทางการละครของเบรคชท์เข้ามาในสังคมไทย ทั้งในลักษณะของการรับตัวบทวรรณกรรมการละครเข้ามาจัดแสดงในสังคมไทยโดยตรงและโดยการนำแบบแผนหรือทฤษฎีทางการละครของเบรคชท์มาจัดแสดงในลักษณะของละครไทย ในกรณีนี้ผู้วิจัยใช้กลุ่มพระจันทร์เสียวการละครเป็นกรณีศึกษาหลัก นอกจากนั้นยังได้มีการศึกษารวบรวมละครไทยที่นำมาจากวรรณกรรมการละครของเบรคชท์ทุกเรื่องนับตั้งแต่การจัดแสดงละครเบรคชท์ในสังคมไทยเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2519 จนถึงครั้งล่าสุดในปี พุทธศักราช 2543 ได้แก่ เรื่องนี่แหละโลก ซึ่งจัดแสดงในปี พุทธศักราช 2519 เรื่องคนดีที่เสฉวน ซึ่งจัดแสดงในปี พุทธศักราช 2522 เรื่องโอเปร่ายาจก ซึ่งจัดแสดงในปี พุทธศักราช 2527 เรื่องกาลิเลโอ ซึ่งจัดแสดงในปีพุทธศักราช 2528 เรื่องแม่ค้าสงคราม ซึ่งจัดแสดงในปี 2529 และเรื่อง คนเท่ากับคน(ไม่เท่ากับช้าง) ซึ่งจัดแสดงในปีพุทธศักราช 2538 และปีพุทธศักราช 2543 เพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะของละครเบรคชท์ รวมทั้งศึกษาภาพรวมของการนำละครเบรคชท์มาจัดแสดงในสังคมไทย จากการศึกษาพบว่า ลักษณะเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมการเมืองไทยรวมทั้งการแสวงหาและการทดลองละครแนวใหม่เพื่อจัดแสดงในสังคมไทยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ละครเบรคชท์ส่งผลกระทบต่อละครไทยร่วมสมัย ผลกระทบสำคัญคือการสร้างละครไทยแนวสังคมการเมืองและละครความคิดที่มีรูปแบบและแนวทางแปลกใหม่ไปจากละครสมัยใหม่แนวสมจริงที่มีอยู่โดยเนื้อหาของละครให้ความสำคัญกับการนำเสนอปัญหาทางสังคมการเมือง รูปแบบของละครมีลักษณะที่ไม่ให้ความสำคัญกับความสมจริงทางการละครปรัชญาทางการละครมีลักษณะที่กระตุ้นให้คิดพิจารณามากกว่ากระตุ้นความรู้สีกคล้อยตามรวมทั้งกระตุ้นจิตสำนึกทางสังคมโดยตรง โดยเฉพาะผลงานของกลุ่มพระจันทร์เสียวการละคร แสดงให้เห็นผลกระทบของการละครเบรคชท์ที่มีต่อการละครไทยร่วมสมัยใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะ”เรื่องฝรั่ง’’และลักษณะ”เรื่องไทย”ลักษณะ “เรื่องฝรั่ง" หมายถึงการนำวรรณกรรมการละครและทฤษฎีละครของเบรคชท์มาจัดแสดงในสังคมไทย โดยตรง ด้วยการแปลและดัดแปลงให้เป็นละครเบรคชท์แบบไทยและมีความสอดคล้องกับบริบททางสังคมไทยได้แก่ เรื่องนี่แหละโลก ส่วนลักษณะ ‘‘เรื่องไทย’’ หมายถึง การนำทฤษฎีละครแบบเอพิคของเบรคชท์มาประยุกต์ใช้ในละครไทยด้วยการสร้างวรรณกรรมการละครและละครไทยร่วมสมัยแนวใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นของตนเอง ได้แก่ เรื่อง คือผู้อภิวัฒน์