Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ พฤติกรรมการดื่มสุรา และความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของคนไทย ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแปร รายได้ ราคา อายุ เพศ การมีโรคประจำตัว เขตการปกครอง ภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ สถานภาพสมรส การวิเคราะห์ได้อาศัยแบบจำลอง Binomial Logit Model โดยใช้วิธีประมาณค่าแบบ Maximum Likelihood Estimation และใช้ข้อมูลภาคตัดขวาง จากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ ปี 2546 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผลการศึกษา พบว่า ความน่าจะเป็นในการเป็นผู้สูบบุหรี่ของคนไทย ประมาณ 0.09 โดยรายได้และราคามีความสัมพันธ์เชิงลบกับความน่าจะเป็นในการเป็นผู้สูบบุหรี่ ส่วนเพศชาย คนที่ร่างกายปกติ คนในชนบทมีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้ถูบบุหรี่สูงกว่า เพศหญิง คนที่มีโรคประจำตัวคนในเมือง ตามลำดับ สำหรับคนที่อยู่ภาคใต้ คนที่มีการศึกษาระดับประถมหรือตํ่ากว่า ลูกจ้างเอกชน คนที่หย่าร้าง/แยกกันอยู่ มีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้สูบบุหรี่สูงที่สุดในแต่ละกลุ่ม และเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ความน่าจะเป็นในการเป็นผู้สูบบุหรี่สูงขึ้น ซึ่งสูงสุดที่กลุ่มอายุ 46-55 ปี และจะลดลงเมื่อเข้าสู่วัยชรา รวมทั้ง ยังพบว่า คนไทยมีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้ดื่มสุรา ประมาณ 0.35 โดยเพศชายคนที่มีร่างกายปกติ คนในเมืองมีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้ดื่มสุราสูงกว่า เพศหญิง คนที่มีโรคประจำตัว คนในเขตชนบท ตามลำดับ ส่วนคนที่อยู่ภาคเหนือ คนที่จบการศึกษาระดับวิทยาลัย คนที่ทำงานราชการ คนที่หย่าร้าง/แยกกันอยู่ มีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้ดื่มสุราสูงที่สุดของแต่ละกลุ่มและเมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีความน่าจะเป็นในการเป็นผู้ดื่มสุรามากขึ้น ซึ่งสูงสุดที่กลุ่มอายุ 26-35 ปี หลังจากนั้นก็จะลดลง สำหรับระดับราคาและรายได้จะมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความน่าจะเป็นในการเป็นผู้ดื่มสุรา นอกจากนี้ ยังได้ผลการศึกษาว่า พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของคนไทยเป็นแบบเสริมกัน นั้น คือ คนที่สูบบุหรี่ (ดื่มสุรา) จะมีแนวโน้มที่จะดื่มสุรา (สูบบุหรี่) ด้วย