Abstract:
การศึกษาการปนเปื้อนของอาหาร (48 ตัวอย่าง) น้ำดื่ม (24 ตัวอย่าง) และภาชนะ (108 ตัวอย่าง) รวม 180 ตัวอย่าง ในสถานสงเคราะห์เด็ก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 6 แห่ง ได้ทำการศึกษาระหว่างเดือนตุลาคม 2547 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2548 มีการเก็บข้อมูลจากการสังเกตสภาวะสุขาภิบาลอาหาร ตัวอย่างอาหาร น้ำดื่ม และภาชนะ นำมาตรวจแบคทีเรียตัวชี้วัด เพื่อประเมินคุณภาพของตัวอย่างที่ทำการตรวจ คือ Total Bacterial Count (TBC), Conforms และ Escherichai coli และเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในทางเดินอาหาร ได้แก่ Staphylococcus aureus, Bacillus cereus, Salmonella spp. และ Vibrio parahaemolyticus โดยวิธี spread plate count, MPN (Most Probable Number) และวิเคราะห์แยกเชื้อด้วยการทดสอบปฏิกิริยาทางชีวเคมี ผลการศึกษาพบว่า ภาชนะมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่เกินมาตรฐานสูงที่สุด ร้อยละ 46.3 รองลงมาเป็นตัวอย่างน้ำดื่ม ร้อยละ 45.8 และตัวอย่างอาหาร ร้อยละ 37.5 พบจำนวนตัวอย่างอาหารที่มีการ ปนเปื้อน TBC, Conforms, E. coli, S. aureus และ B. cereus คิดเป็นร้อยละ 33.3, 38.9, 38.9, 16.7 และ 83.3 ตามลำดับ ส่วนตัวอย่างน้ำดื่ม มีการปนเปื้อนแบคทีเรียในปริมาณที่เกินมาตรฐาน คือ TBC ร้อยละ 90.9 และ Conforms ร้อยละ 27.3 และตัวอย่างภาชนะ ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ TBC ในปริมาณที่เกินมาตรฐาน ร้อยละ 46.3 ไม่พบเชอแบคทีเรียทีก่อโรคในทางเดินอาหาร ได้แก่ Salmonella spp. และ V. parahaemolyticus ในทุกตัวอย่าง พบว่า จำนวนตัวอย่างภาชนะที่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนในปริมาณที่เกินมาตรฐาน มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) กับช่วงเวลาอาหาร, กลุ่มผู้ล้างทำความสะอาด, เกณฑ์สุขลักษณะในการล้างทำความสะอาด, การใช้ถังขยะที่ไม่รั่วซึมและมีฝาปิด และห้องน้ำห้องส้วมที่สะอาดและไม่มีกลิ่น จากผลการศึกษานี้เป็นข้อมูลสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความปลอดภัยของการสุขาภิบาลอาหาร และเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพอาหาร น้ำดื่ม และภาชนะในสถานสงเคราะห์เด็กให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กกลุ่มดังกล่าว และ เป็นประโยชน์ในการวางแผน การดำเนินงาน เพื่อการป้องกัน แก้ไข และส่งเสริมสุขภาพอนามัยของเด็กและเยาวชนต่อไป