Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการคุ้มครองพยานให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุดอันเป็นการขจัดปัญหาการไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความโดยศึกษามาตรการตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ประกอบกับศึกษาเทียบเคียงพระราชบัญญัติคุ้มครองความปลอดภัยและผลประโยชน์ของพยานบุคคลในคดีอาญาของประเทศฟิลิปปินส์ จากการศึกษา พบว่ามาตรการต่าง ๆ ที่พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 กำหนดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาที่อยู่ใหม่ การเปลี่ยนชื่อสกุล การจ่ายค่าเลี้ยงชีพ หรือการคุ้มครองความปลอดภัย ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พยานว่าจะได้รับความปลอดภัยและชดเชยความเสียหายทางเศรษฐกิจที่พยานอาจได้รับ อันเป็นการขจัดปัญหาการไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความ แต่อีกนัยหนึ่งกลับพบปัญหาในเชิง บริหารงานยุติธรรมเกี่ยวกับการรักษาความลับของพยานเมื่อมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่น และการไม่มีงบประมาณของตนเองในการใช้จ่าย ทำให้มาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นไม่อาจสัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร ทั้งยังพบปัญหาในเชิงกฎหมายหลายประการที่ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พยานว่าจะได้รับความปลอดภัย ผู้เขียนเห็นว่าควรเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้แก่พยานโดยหลีกเลี่ยงมิให้พยานต้องเผชิญหน้ากับจำเลยโดยนำวิธีการสอบสวนและสืบพยานเด็กตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 172 ตรี มาปรับใช้เพื่อลดความหวาดกลัวของพยาน และเพิ่มมาตรการเร่งรัดกระบวนพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่รวดเร็วโดยกำหนดไว้เป็นสิทธิที่พยานพึงได้รับตามกฎหมายเพื่อลดระยะเวลาในการเสี่ยงภัยของพยาน นอกจากนี้ควรกำหนดให้การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (Obstruction of Justice) เป็นความผิดอาญาโดยเฉพาะเพื่อสร้างความเกรงกลัวให้แก่ผู้กระทำผิดและสร้างความเชื่อมั่นแก่พยานเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการขจัดปัญหาการไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความและทำให้การ คุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น