Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาผล1ของปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ความชื้นของวัตถุดิบ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์อากาศ วิธีและระยะเวลาการเก็บรักษาวัตถุดิบที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอะฟลาท็อกซินในวัตถุดิบแต่ละชนิดที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารข้นสำหรับโคนม โดยทำการเก็บข้อมูลตัวอย่างวัตถุดิบและอาหารข้นจากโรงงานผลิตอาหารข้นในระดับสหกรณ์ จำนวน 3 แห่ง ระหว่างเดือน ต.ค. 2543 - ก.พ. 2544 และ ต.ค. 2544 - ก.พ. 2545 เก็บตัวอย่างวัตถุดิบทุก 2 สัปดาห์ เป็นจำนวน 8 งวดติดต่อกัน ในแต่ละงวดวัตถุดิบจะถูกเก็บ 2 ครั้งคือเมื่อวันแรกเข้าสู่โรงงานและก่อนการผสมอาหารวัตถุดิบที่ใช้เป็นตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวโพด กากมะพร้าว รำ (หยาบและละเอียด) มันเส้น กากถั่วลิสง กากปาล์ม กากถั่วเหลือง กากถั่วเขียว กากเมล็ดนุ่น กากทานตะวัน และกากเบียร์ ส่วนอาหารข้นเก็บตัวอย่างทันทีเมื่อผลิตเสร็จได้จำนวนวัตถุ ดิบทั้งหมด 161 ตัวอย่าง อาหารข้น 24 ตัวอย่าง สกัดและวิเคราะห์หาปริมาณอะฟลาท็อกซินจากตัวอย่างทั้งหมดด้วยวิธี Immunoaffinity column และ Spectrofluorometer ตามลำดับ การหาความชื้นในวัตถุดิบใช้วิธี Traditional oven method ทำการวัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์อากาศโดยติดตั้งเครื่องวัดไว้ในแต่ละโรงงาน บันทึกแหล่งที่มา สูตรอาหาร วิธีและระยะเวลาการเก็บรักษาวัตถุดิบของแต่ละโรงงานโดยละเอียด ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน ได้แก่ ชนิดของวัตถุดิบที่เลือกใช้ แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ความชื้นวัตถุดิบและระยะเวลาการเก็บรักษา กากมะพร้าวและข้าวโพดเป็นวัตถุดิบที่มีปริมาณอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนสูงกว่าวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) วัตถุดิบส่วนใหญ่มีปริมาณความชื้นเพิ่มขึ้นภายหลังการเก็บรักษาที่โรงงานทุกโรงงาน โดยปริมาณความชื้นที่เพิ่มขึ้นนั้นแตกต่างกันไปตามสภาพ การเก็บรักษา และระยะเวลาการเก็บรักษาของแต่ละโรงงาน การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้ Pearson’s correlation coefficients และ PROC GLM for Unbalance data พบว่า การเพิ่มขึ้นของความชื้นในวัตถุดิบมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอะฟลาท็อกซินในรำละเอียด กากปาล์ม กากถั่วเหลือง กากทานตะวัน กากมะพร้าวและข้าวโพด ส่วนการเพิ่มขึ้นของระยะเวลาการเก็บรักษานั้นมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอะฟลาท็อกซินในมันเส้นและกากมะพร้าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดทำโปรแกรมพื้นฐานเพื่อควบคุมปริมาณอะฟลาท็อกซินในกระบวนการผลิตอาหารข้นสำหรับโคนมในโรงงานผลิตอาหารสัตว์