Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน การวิจัยส่วนที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความวิตกกังวล และกลวิธีการเผชิญปัญหาของนักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยเพศชาย 183 คน หญิง 187 คน รวมทั้งสิ้น 370 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบวัดความผูกพันที่ผู้วิจัยพัฒนามาจากแบบวัดของ Fraley, Waller และ Brennan แบบวัดความวิตกกังวลของ Spielberger และบบวัดกลวิธีการเผชิญปัญหาของ Jalowiec ผลการวิจัย พบว่า 1. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวลมีความวิตกกังวลสูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและทะนงตน แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างนักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวลและหวาดกลัว 2. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงมีกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบเผชิญปัญหาสูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวล และทะนงตน แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างนักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและหวาดกลัว 3. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวลมีกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งลดอารมณ์ตึงเครียดสูงกว่านักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันมั่นคง และทะนงตน แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างนักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแบบกังวลและหวาดกลัว 4. นักศึกษาที่มีรูปแบบความผูกพันแตกต่างกันมีกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาทางอ้อมไม่แตกต่างกัน การวิจัยส่วนที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของกลุ่มจิตสัมพันธ์ตามแนวของชูทส์ต่อคะแนนรูปแบบการทำงานภายในเกี่ยวกับการมองตนเอง และผู้อื่นด้านลบ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 26 คน จากผลการวิจัยส่วนที่ 1 แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 23 คน กลุ่มควบคุม 13 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่แบบวัดความผูกพัน ผลการวิจัย พบว่า 1. หลัการทดลองนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมเข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ตามแนวของชูทส์ มีคะแนนรูปแบบการทำงานภายในเกี่ยวกับการมองตนเอง และผู้อื่นด้านลบน้อยกว่านักศึกษาที่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ตามแนวของชูทส์ 2. หลักงการทดลองนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ตามแนวของชูทส์ มีคะแนนรูปแบบการทำงานภายในเกี่ยวกับการมองตนเอง และผู้อื่นด้านลบน้อยกว่าก่อนการเข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ตามแนวของชูทส์