Abstract:
ภาวะโลหิตจางเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ อาจพบภาวะโลหิตจ่างร่วมกับโรคทางระบบอื่น ๆ หรือ อาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนขณะรับการรักษา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอุบัติการณ์ และสาเหตุของภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลยังไม่มีการรวบรวมไว้ ระเบียบวิธีวิจัย รวบรวมผู้ป่วยอายุรกรรมที่ไม่มีภาวะโลหิตจางแรกรับ และเข้ารับการรักษาในแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤศจิกายน 2544 โดยผู้ป่วยต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ หาอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล โดยผู้ชายมีค่าฮีโมโกลบินน้อยกว่า 13 กรัมต่อเดซิลิตร และผู้หญิงมีค่าฮีโมโกลบินน้อยกว่า 12 กรัมต่อเดซิลิตร ทำการตรวจค้นหาสาเหตุของภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยที่ไม่พบภาวะโลหิตจางจะได้รับการตรวจ CBC อีกครั้งภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนกลับบ้านเพื่อยืนยัน บันทึกปริมาณเลือดที่ใช้เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมดขณะอยู่ในโรงพยาบาล ผลการวิจัย พบอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจาง 64 คน จาก 98 คน (65.3%) สาเหตุเป็นจากการเสียเลือดที่ชัดเจน 35.7%, ภาวะโลหิตจางจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง 32.1%, การเสียเลือดในทางเดินอาหารที่มองไม่เห็น 23.2%และภาวะโลหิตจากจากการแตกของเม็ดเลือด 8.9% ปริมาณเลือดที่ใช้ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉลี่ยในกลุ่มที่เกิดภาวะโลหิตจาง (147 มิลลิลิตร, พิสัย 28-545 มิลลิลิตร) มากกว่ากลุ่มที่ไม่เกิดภาวะโลหิตจาง (52 มิลลิลิตร, พิสัย 5-114 มิลลิลิตร) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปริมาณเลือดที่ใช้ตรวจทางห้องปฏิบัติการมีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันกับความรุนแรงของภาวะโลหิตจาก (r = 0.638, p < 0.05) สรุป ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยถึงสองในสามของผู้ป่วยที่อยู่รักษาในโรงพยาบาลสาเหตุสำคัญเป็นจากการเสียเลือดที่ชัดเจน และจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง อย่างไรก็ตามการเสียเลือดจากการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นสาเหตุร่วมที่สำคัญสาเหตุหนึ่ง แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยควรตระหนักถึงปัญหานี้ และพิจารณาอย่างรอบคอบ ในการส่งเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยโรค