Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระดับเทศบาลว่า ภายหลังจากการเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งเป็นการเลือกนายกเทศมนตรีโดยตรงแล้วนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเลือกตั้งในลักษณะต่างๆ อย่างไร และมีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเลือกผู้สมัครของประชาชน โดยมีสมมติฐานว่า ระบบการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นคือ คุณสมบัติของผู้สมัคร การรณรงค์หาเสียงและด้านนโยบาย การเก็บข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์และสังเกตแบบมีส่วนร่วมประกอบกัน โดยแบ่งกลุ่มประชาชนออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจ กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาและกลุ่มชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ผลจากการศึกษายืนยันสมมติฐานเป็นบางส่วน กล่าวคือ ระบบการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี โดยตรงได้กระตุ้นความสนใจให้ประชาชนส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นต่างๆ ในการสนทนาเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น แต่การใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เพิ่มสูงขึ้นกลับพบว่ายังมีปัญหา เรื่องการซื้อเสียงมากโดยเฉพาะในกลุ่มของประชาชนที่มีรายได้น้อย ขณะที่การเข้ามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้สมัครรณรงค์หาเสียงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มหัวคะแนนผู้สมัคร กลุ่มเครือญาติและเพื่อนที่ใกล้ชิดของผู้สมัครและเป็นการช่วยเหลือในลักษณะที่มีเงินเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนตอบแทน จากการศึกษา พบว่า ประชาชนทุกกลุ่มให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครจากปัจจัยด้านคุณสมบัติของผู้สมัครปัจจัยดังกล่าวยังก่อให้เกิดทัศนะและความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อตัวนักการเมืองที่แตกต่างกัน และส่งผลต่อพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงที่ต่างกันระหว่างกลุ่มข้าราชการและกลุ่มชาวบ้านที่มีรายได้น้อย รองลงมาคือการรณรงค์หาเสียง ด้านนโยบายนั้นสามารถกระตุ้นความสนใจในการเลือกตั้งได้น้อยสุด