Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาถึงความสามารถของกำไรสุทธิและองค์ประกอบของกำไรสุทธิในการอธิบายกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตโดย อาศัยตัวแบบของ Barth Cram และ Nelson (2001) รวมทั้งทำการเปรียบเทียบความสามารถในการอธิบายกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตระหว่างการแยกและไม่แยกองค์ประกอบของกำไรสุทธิ โดยทำการจัดเก็บข้อมูลจากงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ 2540-2546 วิธีการศึกษาใช้การวิเคราะห์ความถดถอดแบบง่าย (Simple Regression Analysis) และวิเคราะห์ ความถดถอยเชิงพหุ (Multiple Regression Analysis) เพื่อทดสอบความสามารถในการอธิบายกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตของตัวแปรที่อยู่ในตัวแบบ และใช้ค่า Vuong (1989) Z –statistic เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอธิบายกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตระหว่างตัวแบบ ผลการศึกษาพบว่า กำไรสุทธิและองค์ประกอบของกำไรสุทธิสามารถนำมาใช้ในการอธิบายกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ และจากการเปรียบเทียบความสามารถในการอธิบายกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคต พบว่า การแยกกำไรสุทธิเป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและรายการคงค้างสามารถอธิบายกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตได้ดีกว่ากำไรสุทธิที่ไม่ได้แยกองค์ประกอบ และการแยกกำไรสุทธิเป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลงในทุนหมุนเวียน และรายการคงค้างระยะยาว สามารถอธิบายกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตได้ดีกว่าการแยกกำไรสุทธิเป็นกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและรายการคงค้าง