Abstract:
การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การทำงานร่วมกันของพยาบาลและแพทย์โดยมุ่งทำความเข้าใจและศึกษาเงื่อนไขหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีของพยาบาลและแพทย์ ศึกษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทางภาคเหนือ 2 แห่ง ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) จากผู้ให้ข้อมูลซึ่งเป็นแพทย์และพยาบาลที่มีประสบการณ์การทำงาน 5 ปีขึ้นไป ประกอบด้วยพยาบาล 12 ราย แพทย์ 12 ราย รวม 24 ราย ผลการศึกษาพบว่า พยาบาลและแพทย์รับรู้ตรงกันว่าการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายมีความไม่เท่าเทียมกันหรือไม่เสมอภาคของอำนาจ โดยแพทย์จะมีอำนาจทางวิชาชีพเหนือกว่าพยาบาล ซึ่งเกิดจากความแตกต่างด้านความรู้ทางวิชาการ ฐานะทางสังคม และลักษณะการทำงานของพยาบาลที่จำเป็นต้องพึ่งพาแพทย์ ส่วนวิธีการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในการทำงานร่วมกันพยาบาลเลือกใช้วิธีการสื่อสารแบบเกมของแพทย์และพยาบาล กล่าวคือ พยาบาลจะให้คำแนะนำแก่แพทย์โดยทางอ้อมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนความเป็นผู้มีอำนาจของแพทย์อีกทั้งพยาบาลและแพทย์ต่างรับรู้และแยกบทบาทของแต่ละฝ่ายได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ แพทย์เป็นผู้กำหนดแผนการรักษา ส่วนพยาบาลเป็นผู้นำแผนไปปฏิบัติโดยมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันคือทำหน้าที่ให้การดูแลผู้ป่วย ในด้านความเอาใจใส่ในการทำงานร่วมกันพบว่า มีการทำงานโดยใช้วิธีการร่วมมือกันน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดแผนการรักษาผู้ปวยตามลำพัง แม้ว่าพยาบาลส่วนใหญ่จะรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมในอำนาจทางวิชาชีพแต่เนื่องจากพื้นฐานของแพทย์และพยาบาลทำงานร่วมกันในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีลักษณะกึ่งชนบท ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยความราบรื่น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันโดยพยาบาลช่วยเหลือให้แพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยได้สะดวกและง่ายขึ้นส่วนแพทย์ใช้ความเชี่ยวชาญของตนเองในการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและความรู้ที่ทันสมัยกับพยาบาลในการทำงาน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ส่วนเงื่อนไขหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพยาบาลและแพทย์นั้นพบว่าประกอบด้วย การปรับสมดุลอำนาจของแพทย์และพยาบาล ความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน การยอมรับบทบาทความเป็นเพื่อนร่วมงาน การรับฟังความคิดเห็นความเห็นอกเห็นใจกัน การสื่อสารที่ดีต่อกัน และบุคลิก ลักษณะที่ดีของแต่ละฝ่าย