Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงความเหมาะสมการกำหนดความผิดอาญาอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้โทษจำคุกของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ 2534 และศึกษาถึงมาตรการอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติดังกล่าวที่สามารถนำมาใช้สร้างความเชื่อถือให้แก่การใช้เช็คในประเทศไทยในปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่า การบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบหลายประการ อาทิเช่น ปัญหาการที่เจ้าหนี้ตามเช็คใช้กฎหมายเป็นเครื่องบีบบังคับชำระหนี้จากผู้สั่งจ่ายหรือลูกหนี้ตามเช็ค ปัญหาภาระการดำเนินคดีต่อรัฐ ปัญหาการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาล อีกทั้งผลกระทบในแง่ธุรกิจซึ่งเกิดจากการใช้เช็คที่มีความรับผิดชอบทางอาญาตามมา ดังนั้น ผู้เขียนจึงสรุปผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเหมาะสมของพระราชบัญญัติความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 และเสนอแนะมาตรการที่สามารถนำมาใช้สร้างความเชื่อถือให้กับการใช้เช็ค อันได้แก่ มาตรการกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรการข้อมูลเครดิตภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 มาตรการภายในของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งนำความผิดอาญาฐานฉ้อโกงมาใช้กับผู้ออกเช็คที่มีเจตนาทุจริตที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เพื่อเป็นมาตรการทดแทนพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ที่ควรจะได้ยกเลิกในโอกาสต่อไป