Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงเพื่อการอยู่รอดของชุมชนริมน้ำดั้งเดิมในพื้นที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบด้วย 1) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของชุมชนริมน้ำดั้งเดิม 2) ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการอยู่รอดของชุมชนริมน้ำ 3) แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความสามารถในการอยู่รอดของชุมชนริมน้ำ และ 4) เสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสมเพื่อการดำรงอยู่สืบต่อไปของชุมชนริมน้ำ โดยพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยจากแนวความคิดของ Rapoport (1977) และ Garnham (1985) ที่ใช้องค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง มาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาลักษณะเฉพาะที่บ่งชี้ความเป็นตัวตนของชุมชน ได้แก่ลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่น กิจกรรมและหน้าที่ที่พึงสังเกตได้ชัด และการสื่อความหมายหรือสัญลักษณ์ที่ปรากฎในชุมชน ผลจากการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนริมน้ำดั้งเดิมในพื้นที่อัมพวาเกิดการเปลี่ยนแปลงมีด้วยกัน 2 ประการ คือ การพัฒนาระบบถนน ที่ส่งผลต่อการทำลายและลดบทบาทความสำคัญของระบบเครือข่ายลำน้ำ และการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ทำให้สมดุลของสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาในระบบลุ่มน้ำเกิดเปลี่ยนแปลง ผลจากการเปลี่ยนแปลงทำให้ผู้คนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยพยายามรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเอาไว้ หากเป็นชุมชนริมน้ำในเขตเมือง การปรับตัวเป็นการเคลื่อนย้ายบ้านเรือนและร้านค้าริมน้ำมาปลูกสร้างใหม่บริเวณริมถนนภายในชุมชน เพื่อประกอบอาชีพเดิมต่อไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมน้ำ ส่วนชุมชนริมน้ำในเขตชนบท เป็นการแบ่งสมาชิกในครัวเรือนออกไปทำงานนอกภาคเกษตร และการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่ภายในสวน ผลจากการปรับตัวนอกจากทำให้ครัวเรือนอยู่รอด ยังมีผลต่อการรักษาสถานภาพของความเป็นชุมชนริมน้ำให้ดำรงอยู่สืบมาถึงปัจจุบัน ส่วนการอยู่รอดของชุมชนริมน้ำ พบว่า จะแปรผกผันกับระดับของการพัฒนาหรือความเป็นเมืองของชุมชน โดยชุมชนที่มีความเป็นเมืองที่มากกว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกองค์ประกอบสำคัญของชุมชนในระดับที่มากกว่า ทำให้การดำรงอยู่ของชุมชนริมน้ำอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงต่อการอยู่รอด จากกรณีศึกษาชุมชนริมน้ำในพื้นที่อัมพวา สรุปได้ว่า ข้อค้นพบในเชิงทฤษฎีแนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาใช้พิจารณาได้ทั้งลักษณะเฉพาะของชุมชนริมน้ำ และประเมินสถานภาพการอยู่รอดของชุมชน แต่ต้องมีการปรับเงื่อนไขที่นำมาใช้พิจารณา คือ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจของชุมชน และวิถีชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ส่วนข้อค้นพบในเชิงนโยบาย พบว่า การรักษาความเป็นชุมชนริมน้ำให้อยู่รอดต่อไป ขึ้นอยู่กับการพยายามรักษาเงื่อนไขสำคัญทั้งหมดของการอยู่รอด ประกอบด้วยการรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำและระบบเครือข่ายลำน้ำ การรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจของครัวเรือนให้อยู่ในลักษณะเศรษฐกิจแบบพอเพียงและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนเป็นหลักในการผลิต การรักษาความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างคนกับน้ำ และมีการรับช่วงสานต่อของคนรุ่นถัดไปที่เหมาะสม จากเงื่อนไขดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นข้อพิจารณาประกอบการกำหนดนโยบายการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาถนน และทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของชุมชนริมน้ำ ไม่ให้ถูกทำลายหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก่อนเวลาอันควร