Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาผลของการสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพร่วมกับการฟังดนตรี ต่อความวิตกกังวลของหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดครรภ์แรกกลุ่มตัวอย่าง คือ หญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดครรภ์แรก จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 20 คน และกลุ่มควบคุม 20 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างเฉพาะเจาะจง และจับคู่ในเรื่อง อายุ อายุครรภ์ และระดับความวิตกกังวลแบบแฝง กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มทดลอง ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพร่วมกับการฟังดนตรี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ คู่มือการดูแลตนเองของหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และซีดีเพลงดนตรีบำบัด ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดทฤษฎีการสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับสุภาพของ Thema (1960) ร่วมกับแนวคิดทฤษฎีการใช้ดนตรีบำบัดของ Watkins (1997) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบวัดความวิตกกังวลขณะเผชิญของหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดครรภ์แรก วิเคราะห์หาค่าความเที่ยงของเครื่องมือ โดยคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .90 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดลอง (t-test statistic) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ค่าเฉลี่ยของคะแนนความวิตกกังวลขณะเผชิญของหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดครรภ์แรกที่ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ดนตรีบำบัดต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิต(p<.01)