Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาสุนทรียภาพของโคลงในวรรณคดีไทยในด้านความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติของภาษาไทยกับสร้างสรรค์วรรณศิลป์ กลวิธีการสร้างความงามทางวรรณศิลป์ ตลอดจนการสืบทอดและการสร้างสรรค์วรรณศิลป์ในการแต่งโคลง โดยศึกษาโคลงทุกประเภทจากตัวบทวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ ผลการวิจัยพบว่า โคลงเป็นรูปแบบคำประพันธ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากธรรมชาติของภาษาไทย โดยเฉพาะการบังคับเสียงวรรณยุกต์ซึ่งเป็นกรอบบังคับทางฉันทลักษณ์ที่แตกต่างไปจากคำประพันธ์ชนิดอื่น นอกจากนี้กวีได้ใช้ธรรมชาติภาษาไทยตกแต่งโคลงให้มีความไพเราะคมคาย ทั้งเรื่องเสียง เรื่องคำ และน้ำหนักของความหมาย ในเรื่องเสียง ได้แก่ เสียงวรรณยุกต์ เสียงพยัญชนะ และเสียงสระ กวีให้ความสำคัญแก่เสียงวรรณยุกต์ในตำแหน่งท้ายวรรคหรือท้ายบาทด้วยการใช้เสียงจัตวาและเสียงสามัญดังที่พบในยวนพ่ายโคลงดั้นและในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และการเล่นเสียงวรรณยุกต์ต่างระดับ ส่วนเสียงพยัญชนะและเสียงสระกวีใช้การซ้ำเสียงพยัญชนะต้น การแทรกเสียงพยัญชนะ /ร/ ในคำ และการซ้ำเสียงสระสร้างเสียงสัมผัสคล้องจองและเสียงเสนาะในโคลง ในเรื่องจังหวะ กวีใช้จังหวะหนักเบาของการออกเสียงพยางค์ภาษาไทยเพื่อความไพเราะ ในเรื่องคำ กวีใช้คำพ้องรูป พ้องเสียง และใช้คำเดียวกันซ้ำกันเพื่อเล่นกับความหมายหลายนัยของคำโดยใช้กลวิธีการซ้ำคำในรูปแบบต่างๆ อันเป็นกลวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในการแต่งโคลง นอกจากนี้ยังเล่นกับน้ำหนักและระดับของความหมายด้วยการใช้คำซ้ำ คำ 4 พยางค์ การลำดับคำ และการละคำ กวีใช้ลักษณะเด่นของธรรมชาติภาษาไทยเหล่านี้รวมกันไปในโคลงแต่ละบท ส่งผลให้โคลงมีสุนทรียภาพทั้งทางด้านเสียงและความหมาย ได้แก่ ความไพเราะจากเสียงและคำ การจัดหมวดหมู่ความคิด การเน้นอารมณ์ความรู้สึก การเล่นความหมายหลายนัย การลำดับความ และการสรุปความ แนวคิดสำคัญเรื่องการสร้างสุนทรียภาพของโคลงในระดับเสียงและคำด้วยการเล่นเสียง การเล่นคำ และการซ้ำคำ รวมทั้งการสร้างสุนทรียภาพในระดับความด้วยการขยายความและการล้อความโคลงกับคำประพันธ์ชนิดอื่นเป็นสิ่งที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และกวีในสมัยต่อมาได้สืบทอดและสร้างสรรค์สุนทรียภาพนี้ในการแต่งโคลงในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงกวีนิพนธ์สมัยใหม่ด้วย นอกจากนี้การสืบทอดและการสร้างสรรค์สุนทรียภาพที่สัมพันธ์กับรูปแบบของโคลงมีผลให้โคลงมีรูปแบบและลีลาทางวรรณศิลป์แปลกใหม่ต่างไปจากเดิมและแสดงเอกลักษณ์ของกวีแต่ละคน ขณะเดียวกันกวีก็ยังคงมุ่งรักษาแบบแผนการเล่นกับน้ำหนักเสียงอันเป็นลักษณะเด่นของโคลงในด้านวรรณศิลป์ซึ่งปรากฏให้เห็นในโคลงตั้งแต่อดีตจนถึงโคลงในสมัยปัจจุบัน