Abstract:
เมื่อเกิดข้อขัดแย้งทางธุรกิจขึ้น คู่กรณีย่อมต้องการความสะดวก รวดเร็ว สามารถรักษาความลับทางธุรกิจ และยังมีไมตรีฉันมิตรประกอบธุรกิจกันได้ต่อไป ซึ่งการดำเนินทางศาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก การพิจารณาแต่ละคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ดำเนินการพิจารณาโดยเปิดเผย และเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการแพ้ชนะในคดีอันเป็น สาเหตุให้คู่กรณีเกิดความหมางใจต่อกัน อีกทั้งข้อขัดแย้งซึ่งมีปัญหาทางเทคนิคที่ซับซ้อน ควรจะได้รับการระงับโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในข้อขัดแย้งโดยตรงด้วยเหตุนี้ การระงับข้อขัดแย้งทางธุรกิจนอกศาลจึงเป็นที่นิยมมากกว่าการดำเนินคดีในศาล จากการศึกษาและวิเคราะห์แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า การระงับข้อขัดแย้งทางธุรกิจนอกศาลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ยหรือการประนอมข้อขัดแย้ง การอนุญาโตตุลาการ และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ซึ่งเหมาะสมกับประเด็นข้อขัดแย้งที่ซับซ้อนต่างกัน การระงับแย้งทางธุรกิจนอกศาลในต่างประเทศ อาจเกิดขึ้น จากการที่คู่กรณีทำสัญญากำหนดรายละเอียดของการระงับข้อขัดแย้งระหว่างกันเองหรืออาจนำข้อขัดแย้งนั้นเข้าสู่การพิจารณา ขององค์กรระงับข้อขัดแย้ง โดยการระงับข้อขัดแย้งทั้งสองวิธีดังกล่าวขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคู่กรณีเป็นสำคัญ องค์กรระงับข้อขัดแย้งในต่างประเทศได้รับการยอมรับจากคู่กรณีทั้งในเรื่องความเป็นสากลและคุณภาพมาตรฐานในการพิจารณาข้อขัดแย้ง ทำให้ปริมาณของข้อขัดแย้งที่เข้าสู่การพิจารณาขององค์กรเหล่านี้มีจำนวนสูงมากในแต่ละปี ถึงแม้ในปัจจุบันได้มีการนำกระบวนการระงับข้อขัดแย้งทางอื่นมาใช้อยู่บ้างแล้วในประเทศไทย แต่ก็ยังมีขอบเขตที่จำกัดอยู่มากและยังพอมีทางที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้มีประสิทธิผลได้มากขึ้นอีกหลายประการ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้มีการตกลงระงับข้อขัดแย้งทางธุรกิจกันได้อย่างสันติมากที่สุด และใช้กระบวนการเพื่อส่งเสริมให้มีการตกลงระงับข้อขัดแย้งทางธุรกิจกันได้อย่างสันติมากที่สุด และใช้กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตามนักกฎหมายที่ดีก็ควรที่จะหาแนวทางป้องกันมิให้เกิดข้อขัดแย้งควบคู่กันไป ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลได้อย่างเป็นอย่างดี