Abstract:
“การอยู่อาศัย” ในฐานะที่เป็นดังหัวใจของการดำรงอยู่ของชีวิต หมายถึง การก่อร่างของความสัมพันธ์อันแนบแน่นและเต็มเปี่ยมด้วยความหมายระหว่างตัวเราและโลกแวดล้อม อาจกล่าวโดยนัยได้ว่า “การอยู่อาศัย” คือ การหว่าน “เมล็ดแห่งชีวิต’’ ลงบนผืนดินที่เอื้ออำนวยให้เราได้มีโอกาสสลักเสลาสาระแห่งชีวิตได้ด้วยตัวของเราเอง ในการอาศัยอยู่อย่างแนบแน่นและเข้มข้น “บ้าน” จึงมีเนื้อหาสาระพิเศษสำหรับการศึกษาปรากฎการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นภายในที่ว่าง ที่มีความซับซ้อน ซ้อนทับอยู่ภายในองค์รวมแห่งชีวิต พื้นที่ที่เกิดจากการอยู่หรือจากการสั่งสมประสบการณ์ของบุคคลจนเกิดเป็น “พื้นที่รองรับการอยู่อาศัยของชีวิต” ไม่เพียงจะเป็นองศ์ประกอบสำคัญของการดำรงอยู่ของชีวิตเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นภาพของวัฒนธรรมในระดับที่เล็กที่สุดอีกด้วย ในการสั่งสมประสบการณ์การอยู่อาศัยในโลก บุคคลได้กอบโลกรอบๆ กายขึ้นเป็นพื้นที่รองรับชีวิต บ้านจึงมิได้หมายความต่อบุคคลเพียงปัจจุบันเท่านั้น ทว่า บ้านสานอดีตเข้ากับปัจจุบัน และรอคอยการมาแห่งอนาคต ในความหมายนี้บ้านจึงเป็นทั้ง ‘‘อู่กำเนิด’’ เป็น “ที่โอบอุ้ม คุ้มภัย” เป็น “จักรวาลของครอบครัว” เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งชีวิต’’ และเป็น “สถาปัตยกรรมที่ไม่รู้จบ’’ ความปรากฏของบ้านจึงฉายให้เห็นภาพวิถีแห่งการดำรงอยู่ในโลกของบุคคล เช่นเดียวกัน “บ้านไทย” หรือ “เรือนไทย” ซึ่งกำเนิดจากภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เทคโนโลยี และทรัพยากรของภูมิไทย ย่อมฉายให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยและวิธีการใช้สอยพื้นที่รองรับการอยู่กินของครอบครัวไทย เผยให้เห็นแบบแผนของสังคมที่พอเพียง พึ่งพาตนเองได้ แต่น่าเลียดายที่ในปัจจุบันภูมิปัญญาอันเป็นมรดกแห่งวัฒนธรรมไทย ที่อำนวยให้เกิดการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและยั่งยืน กำลังถูกพรากออกไปจากคนไทยและสังคมไทยไปทีละน้อย
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบแผนการใช้สอยที่ว่างในเรือนไทย บ้านคลองลำสาลี ขึ้งให้ความสำคัญกับการศึกษาวิทีชีวิตความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งนำไปสู่การใช้สอยที่ว่างที่รองรับชีวิตอย่างคุ้มค่า โดยอาศัยประสบการณ์ภาคสนามจากพื้นฐานของการวิเคราะห์ปรากฏการณ์และสถานการณ์ ตามมโนทัศน์ แนวคิด ทฤษฎีปรากฏการณ์ศาสตร์และจิตวิทยาสถาปัตยกรรม การวิจัยนี้ เริ่มต้นจากการศึกษาเรื่องราวการถักทอชีวิตของสมาชิกครอบครัวบ้านคลองลำสาลี อันได้แก่ ครอบครัวของน้ามาเรียม พุ่มพวง ครอบครัวของป้ากุหลาบ ชุ่มชื่น และยายสนิ อรุณพูนทรัพย์ โดยที่ “เรื่องราวแห่งชีวิต” อันประกอบ “สารสัมพันธ์ชีวิตของครอบครัวใหญ่” “ชีวิตพึ่งพิงอิงธรรมขาติ” “ทำมาหาเลี้ยงชีพ” “เล่น -เรียน -รู้คู่ชีวิตอิสระ’’ “ศรัทธาแห่งชีวิต" และ “เทศกาลแห่งชีวิต” จะนำไปสู่ความเข้าใจในการศึกษาเรื่องราวการเติบโตของเรือนอันเป็นที่อยู่ที่อาศัยของชีวิต และการศึกษาแบบแผนการใช้สอยที่ว่างในเรือนของครอบครัวทั้งสาม จากนั้นจึงเป็นการวิเคราะห์มิติทางกายภาพและจิตภาพของการอยู่อาศัย และการวิเคราะห์ลักษณะและความหมายของที่ว่างที่ได้จากเรือนทั้งสาม ซึ่งประกอบด้วย “ที่ว่างซึ่งรองรับมิติการใช้สอยอันหลากหลาย” “ที่ว่างซึ่งซ้อนอยู่ในที่ว่าง’’ “ที่ว่างซึ่งมีปฏิสันถารกับชีวิต” “ที่ว่างซึ่งเปิดประสบการณ์แห่งสัมผัส รับรู้ สู่ใจ” และ “ที่ว่างซึ่งแปรเปลี่ยนได้เติบโตได้เคลื่อนย้ายได้” ท้ายที่สุด การศึกษาแบบแผนการใช้สอยที่ว่างซึ่งรองรับมิติการอยู่อาศัยอันหลากหลาย จึงนำไปสู่ความเป็น “บ้านแห่งชีวิต” หรือ “เรือนแห่งชีวิต" อันประกอบด้วย “เรือน เปิดรองรับเรื่องราวแห่งชีวิต” “เรือน ที่อยู่ของมุมแห่งชีวิต” “เรือนรับรองชีวิตปฏิสันถาร” “เรือน สัมผัสแห่งชีวิต” “เรือน ปลูก+ปรับ+ปรุงชีวิตไม่รู้จบ” ซึ่งอำนวยให้ชีวิตที่อยู่อาศัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ความหมายทั้งห้าของเรือนแห่งชีวิต ยังช่วยเปิดประเด็นให้เห็นแนวทางในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสำหรับอยู่อาศัย ที่สอดคล้องกับฐานวัฒนธรรมของสังคมไทยและตอบรับกับบริบทปัจจุบันที่ฐานทรัพยากรโลกมีอยู่อย่างจำกัด พร้อมทั้งให้ข้อคิดในเรื่องวิถีการเป็นอยู่อย่างพอเพียงและระบบพึ่งพาตนเองได้ อันเป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้สั่งสม สืบสาย สานสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต