Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อรวบรวมผลงานการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยประเภทพระเจดีย์ พระอุโบสถ และพระวิหาร ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกผู้ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ หรือปฏิบัติงานในสถาบันการศึกษา รวม 8 ท่าน ทำการศึกษาแนวทางการออกแบบของสถาปนิกแต่ละท่าน รวมทั้งศึกษาลักษณะร่วม และลักษณะต่างในงานงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัชกาลที่ 9 โดยผลงานที่นำมาเป็นกรณีศึกษาต้องสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 และมีที่ตั้งในประเทศไทย ข้อมูลที่ได้มานำมาทำการแยกพิจารณาเป็นหัวข้อ ดังนี้ แนวความคิดในการออกแบบ, ประวัติความเป็นมาของวัด และสถาปัตยกรรมที่ทำการศึกษา, การเลือกที่ตั้งอาคาร, แผนผังอาคารกับหน้าที่ใช้สอย, รูปแบบสถาปัตยกรรม, สีและวัสดุในการตกแต่งอาคาร, ระบบโครงสร้างและเทคนิควิธีการก่อสร้าง, แสงและที่ว่างภายในอาคาร จากการศึกษา พบว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบัน มีความหลากหลาย อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ประกอบกับการศึกษาในหลักสูตรสถาปัตยกรรม ส่งผลให้สถาปนิกมีอิสระทางความคิดในการออกแบบตามลักษณะเฉพาะของตนเอง อย่างไรก็ตาม แนวทางการออกแบบยังคงดำเนินแนวทางตามรอยเท้าครู ซึ่งแบ่งเป็น ครูที่เป็นสถาปัตยกรรมในอดีต ในด้านพัฒนาการแยกพิจารณาตามประเภทอาคาร ดังนี้ พระอุโบสถ มีการสร้างมากที่สุด เพราะถือเป็นอาคารประธานของวัด ปัจจุบันมีการใช้งานภายชั้นฐาน ซึ่งยกสูงเป็นพื้นที่อเนกประสงค์, พระเจดีย์ ในปัจจุบันนอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังมีประโยชน์ในสอยเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานเป็นพิพิธภัณฑ์, พระวิหาร มีการสร้างน้อยที่สุด เพราะประโยชน์ใช้สอยอย่างในอดีตได้ย้ายไปใช้ที่พระอุโบสถและศาลาการเปรียญแทน พระวิหารจึงมีหน้าที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว แนวทางการออกแบบพุทธศิลป์สถาปัตยกรรมไทย รัชกาลที่ 9 แยกพิจารณาได้เป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยซึ่งสืบทอดแนวทางจากอดีต ลักษณะที่ชัดเจนที่สุด คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบสถาปัตยกรรม อีกทั้ง วัสดุในการประดับตกแต่ง, แสงและการระบายอากาศและระบบสัญลักษณ์ อีกแนวทางหนึ่ง คือ แนวทางการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทยที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบโครงสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กโดยใช้เทคนิควิธีการสมัยใหม่ และเริ่มมีการใช้โครงสร้างเหล็ก รวมทั้งระบบการใช้สีและวัสดุในการประดับตกแต่ง และระบบการตกแต่งภายใน