Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาบทบาทของสภาพคล่องในฐานะที่เป็นตัวแปรเสริมในตัวแบบราคาของสินทรัพย์ ตลอดจนบทบาทของสภาพคล่องในฐานะที่เป็นตัวชี้วัดการควบคุมตลาดของนักลงทุนที่มั่นใจในตนเองเกินขนาด อย่างไม่มีเหตุผล โดยใช้ข้อมูลรายเดือนของหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี 2537 – 2547 และใช้อัตราส่วนความไม่มีสภาพคล่องเป็นตัววัดสภาพคล่อง โดยในการศึกษาจะเริ่มจากการศึกษา บทบาทของสภาพคล่องในฐานะที่เป็นตัวแปรเสริมในตัวแบบราคาของสินทรัพย์ ซึ่งพบว่าสภาพคล่องมีบทบาท สำคัญในการช่วยอธิบายอัตราผลตอบแทนของหุ้นสามัญ โดยตัวแบบ CAPM ที่เพิ่มตัวแปรด้านสภาพคล่อง (CAPML) นั้นมีความสามารถในการอธิบายอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ได้ดีที่สุด นอกจากนี้เมื่อศึกษาเรื่อง ของส่วนชดเชยความเสี่ยงในตัวแบบที่มีการเพิ่มตัวแปรสภาพคล่อง ผลที่ได้พบว่าค่าส่วนชดเชยความเสี่ยงของ ปัจจัยด้านสภาพคล่องมีค่าเป็นบวกสอดคล้องกับที่ได้ตั้งสมมุติฐานเอาไว้ สำหรับผลการศึกษาในเรื่องของบทบาทของสภาพคล่องในฐานะที่เป็นตัวชี้วัดการควบคุมตลาดของนัก ลงทุนที่มั่นใจในตนเองเกินขนาดอย่างไม่มีเหตุผลนั้น จะศึกษาโดยพิจารณาจากผลกำไรจากกลยุทธ์การลงทุนแบบ โมเมนตัมในสถานะต่างๆของตลาด โดยใช้อัตราผลตอบแทนของตลาด และสภาพคล่องของตลาดเป็นเกณฑ์ใน การแบ่งสถานะ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าในช่วงตลาดขาขึ้นผลกำไรที่ได้จากการลงทุนในช่วงที่ตลาดมีสภาพคล่องสูง จะให้ผลกำไรมากกว่าการลงทุนในช่วงที่ตลาดมีสภาพต่ำ ซึ่งผลการศึกษาที่ได้พบว่าสอดคล้องกับตัวแบบของ Baker and Stein (2002) ที่ว่านักลงทุนที่มั่นใจในตนเองเกินขนาดอย่างไม่มีเหตุผลจะเข้ามาในตลาดก็ต่อเมื่อ มุมมองที่มีต่อตลาดเป็นบวกเท่านั้น อย่างไรก็ตามผลการศึกษาที่ได้มีนัยสำคัญเฉพาะในกรณีที่ใช้สภาพคล่อง ย้อนหลัง 3 เดือนเท่านั้น และเมื่อพิจารณาในกรณีของผลกำไรหลังปรับความเสี่ยงพบว่าผลกำไรที่เกิดจากกลยุทธ์ การลงทุนแบบโมเมนตัมนั้นลดลงเข้าใกล้ศูนย์มากยิ่งขึ้น