Abstract:
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะให้ความคุ้มครองบุคคลปัญญาอ่อนในการทำนิติกรรมสัญญา จากการศึกษาวิทยานิพนธ์ฉบับนี้พบว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้บัญญัติชัดเจนโดยตรงถึงการคุ้มครองบุคคลปัญญาอ่อนในการทำนิติกรรมสัญญา ทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการ คุ้มครองบุคคลปัญญาที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และมิได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ อีกทั้งมิได้เป็นบุคคลวิกลจริตด้วย แต่เป็นบุคคลที่ไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว โดยแบ่งเป็นปัญหาทางกฎหมายได้ 3 ประการ ดังนี้ 1. ปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา 2. ปัญหาเกี่ยวกับการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมสัญญา 3. ปัญหาเกี่ยวกับความไม่สุจริตของคู่สัญญา ในตอนท้ายของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้เขียนจึงได้ศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลปัญญาอ่อนในการทำนิติกรรมสัญญาโดยเปรียบเทียบกับกฎหมายอังกฤษ กฎหมายสหรัฐอเมริกา กฎหมายอิตาลี พร้อมเสนอแนะบทบัญญัติกฎหมายและแนวทางอื่น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการคุ้มครองบุคคลปัญญาอ่อนในการทำนิติกรรมสัญญา แบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้ 1. นำกฎหมายที่มีอยู่ตามมาตรา 4 วรรค 2 มาบังคับใช้ประกอบกับมาตรา 30 2. เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 30 โดยแก้เป็นว่า “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริต ซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลที่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือมีเหตุอื่นใดจนไม่สามารถจะจัดทำการงาน โดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ซึ่งศาลยังมีได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะ ต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่หรือไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริตหรือเป็นบุคคลที่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือมีเหตุอันใดจนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว”