Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารูปแบบการเปลี่ยนแปลงการตั้งถิ่นฐานของ อ่าวนาง จังหวัดกระบี่เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างแก่เมืองที่กำลังเกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอื่นๆ ให้ทราบถึงรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับพื้นที่อ่าวนาง จากการศึกษาค้นพบว่าการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงการตั้งถิ่นฐาน ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สภาพของอาคารบ้านเรือน อาชีพ วิถีชีวิตของชาวบ้าน และสภาพแวดล้อม ซึ่งล้วนแต่เกิดการปรับตัวให้สอดรับกับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ด้วยเหตุที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาส่วนใหญ่นั้นขาดซึ่งการวางแผนและการควบคุมดูแล ทำให้กลุ่มคนซึ่งสามารถหาผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวล้วนแต่ตักตวงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ปัญหาต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ไม่พึงประสงค์สำหรับเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะปัญหาด้านสภาพแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของธรรมชาติในพื้นที่ อันจะทำให้ภาวะการท่องเที่ยวในพื้นที่ถึงระดับตกต่ำ จากการศึกษาพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถแยกเป็นประเด็นแผนงานได้ดังนี้ 1.แผนงานด้านการจัดการสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 2.แผนงานด้านการจัดการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ 3.แผนงานด้านการจัดการผลประโยชน์ และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ 4.แผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน ข้อเสนอแนะหลักในการจัดการพื้นที่คือ ควรมีความร่วมมือกันในการดูแลจัดการพื้นที่ระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนที่ลงทุน และชาวบ้านในพื้นที่ ให้เกิดการแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมและร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของอ่าวนางให้ยั่งยืนต่อไป