Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาพฤติกรรมค่าความถี่มูลฐานของเสียงสระอันเนื่องมาจากอิทธิพลของคุณสมบัติของเสียงสระ เสียงพยัญชนะต้น เสียงพยัญชนะท้าย เสียงพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้ายที่มีลักษณะการเปล่งเสียงเหมือนกันที่ขนาบหน้าหลังเสียงสระ ที่มีต่อค่าความถี่มูลฐานของสระในภาษาว้าอิก ได้แก่ ภาษาว้า (ภาษามีลักษณะน้ำเสียง) ภาษาละเวือะ (ภาษามีการจัดระบบสระใหม่) และภาษาปลั้ง (ภาษามีวรรณยุกต์) แต่ละภาษาใช้ผู้บอกภาษาจำนวน 6 คนแบ่งเป็นสองกลุ่มอายุ คือ กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี กลุ่มละ 3 คนแต่ละภาษาใช้จำนวนคำตัวอย่าง 60-70 คำ คำตัวอย่างทั้งหมดเป็นคำพยางค์เดียว ผู้บอกภาษาออกเสียงคำตัวอย่างแต่ละคำในรายการคำ 3 ครั้ง รวมคำทดสอบที่ต้องนำมาวิเคราะห์ทั้งสิ้น3,546 คำ ในการวิเคราะห์ค่าความถี่มูลฐานได้ใช้โปรแกรม Praat และค่าสถิติ t-testพฤติกรรมค่าความถี่มูลฐาน มีดังนี้ คุณสมบัติของสระ (1) สระสูงมีค่าความถี่มูลฐานมากกว่าสระต่ำตามสมมติฐาน (2) สระก้องธรรมดามีค่าความถี่มูลฐานมากกว่าสระก้องต่ำทุ้มตามสมมติฐาน อิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้น : (1) สระที่ตามหลังเสียงพยัญชนะต้นควบกล้ำสองเสียงมีค่าความถี่มูลฐานน้อยกว่าสระที่ตามหลังเสียงพยัญชนะต้นเดี่ยว ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐาน(2) สระที่ตามหลังเสียงกักอโฆษะธนิตมีค่าความถี่มูลฐานน้อยกว่าสระที่ตามหลังเสียงกักอโฆษะสิถิลซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐาน (3) สระที่ตามหลังเสียงกักที่มีเสียงนาสิกนำมีค่าความถี่มูลฐานน้อยกว่าสระที่ตามหลังเสียงกักธรรมดา ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน แต่สระที่ตามหลังเสียงเสียดแทรกที่มีเสียงนาสิกนำมีค่าความถี่มูลฐานมากกว่าสระที่ตามหลังเสียงเสียดแทรกธรรมดา ไม่เป็นไปตามสมมติฐาน (4) สระที่ตามหลังเสียงพยัญชนะต้นนาสิกอโฆษะมีค่าความถี่มูลฐานมากกว่าสระที่ตามหลังเสียงนาสิกที่มีการกักที่เส้นเสียงนำ และสระที่ตามหลังเสียงนาสิกโฆษะเป็นไปตามสมมติฐาน อิทธิพลของพยัญชนะท้าย : สระที่อยู่หน้าเสียงพยัญชนะท้ายกักที่เส้นเสียงมีค่าความถี่มูลฐานมากกว่าสระที่อยู่หน้าเสียงพยัญชนะท้ายเสียดแทรกที่เส้นเสียง และสระที่อยู่หน้าเสียงพยัญชนะท้ายเสียงนาสิก ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐาน อิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้ายที่ขนาบหน้าหลัง : สระที่อยู่ระหว่างเสียงกักอโฆษะมีค่าความถี่มูลฐานมากกว่าสระที่อยู่ระหว่างเสียงเสียดแทรกอโฆษะ และเสียงนาสิกโฆษะ ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐาน อิทธิพลที่ก่อให้เสียงวรรณยุกต์ได้ คือ 1. คุณสมบัติของสระ : ลักษณะน้ำเสียงของสระ 2. อิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้น : (1) เสียงควบกล้ำสองเสียง-เสียงเดี่ยว (2) เสียงกักอโฆษะธนิต-สิถิล (3) เสียงกักและเสียดแทรกที่มีเสียงนาสิกนำ-เสียงกักและเสียดแทรกธรรมดา (4) เสียงนาสิกอโฆษะ-เสียงนาสิกที่มีการกักที่เส้นเสียงนำ-เสียงนาสิกโฆษะ 3. อิทธิพลของพยัญชนะท้าย และ 4. อิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้ายที่ขนาบหน้าหลังเสียงสระ ในเรื่องอิทธิพลของเสียงพยัญชนะต้น เสียงพยัญชนะท้าย เสียงพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้ายขนาบหน้าหลังเสียงสระที่มีลักษณะการเปล่งเสียงเหมือนกัน ที่มีต่อระดับเสียงของสระ พบว่าเสียงพยัญชนะอโฆษะทำให้ระดับเสียงของสระสูง และเสียงพยัญชนะโฆษะทำให้ระดับเสียงของสระต่ำกว่า ความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดสากลลักษณ์ การขึ้นตกของระดับเสียงในบริบทเสียงพยัญชนะท้ายกักที่เส้นเสียงและเสียงเสียดแทรกที่เส้นเสียงในภาษาว้าและภาษาละเวือะเป็นเสียงตก ส่วนภาษาปลั้งเป็นเสียงขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับทฤษฎีวิวัฒนาการของวรรณยุกต์ในอดีตที่ว่าเสียงกักที่เส้นเสียงทำให้สระมีระดับเสียงขึ้น ส่วนเสียงเสียดแทรกที่เส้นเสียงทำให้สระมีระดับเสียงตก กลุ่มคนอายุมากมีทิศทางการขึ้นตกของระดับเสียงที่มีลักษณะเป็นพลวัตมากกว่าของคนอายุน้อย เนื่องจากแนวโน้มการกลายเป็นภาษามีวรรณยุกต์ในภาษาว้าอิกเริ่มจากความแตกต่างด้านระดับเสียง เช่น สระสูงกับสระต่ำ ก่อนที่ทิศทางการขึ้นตกจะเข้ามามีบทบาทในการจำแนกเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับทฤษฎีวิวัฒนาการของวรรณยุกต์ที่พบว่าทิศทางการขึ้นตกจะเข้ามามีบทบาทให้การจำแนกเสียงวรรณยุกต์ก่อนความแตกต่างด้านระดับเสียง เส้นทางวิวัฒนาการของวรรณยุกต์ในภาษาว้าอิก มีความเป็นไปได้ที่ภาษาว้า (มีลักษณะน้ำเสียง)และภาษาละเวือะ (มีการจัดระบบสระใหม่) จะพัฒนาเป็นภาษามีวรรณยุกต์ ขณะที่ภาษาปลั้ง(มีวรรณยุกต์) จะมีเสียงวรรณยุกต์เพิ่มขึ้น ดังนั้นในกระบวนการวิวัฒนาการของวรรณยุกต์จึงไม่ได้สิ้นสุดกระบวนการที่การเป็นภาษามีการจัดระบบสระใหม่หรือภาษามีวรรณยุกต์ แต่ภาษามีการจัดระบบสระใหม่เช่นภาษาละเวือะสามารถพัฒนาเป็นภาษามีวรรณยุกต์ได้