Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะทางประชากร ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจัยเสริมแรง และความต้องการด้านบริการและการสงเคราะห์ของคนพิการ รวมทั้งเพื่อศึกษาว่าปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวนี้ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในความต้องการด้านบริการและการสงเคราะห์ของคนพิการมากน้อยเพียงใด โดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะทุพพลภาพและความพิการ พ.ศ.2545 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติกลุ่มตัวอย่างเป็นคนพิการที่ตอบแบบสอบถามด้วยตนเองอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 7,713 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การกระจายอัตราร้อยละแสดงคุณลักษณะทั่วไปของข้อมูล และใช้การวิเคราะห์การจำแนกพหุในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม ผลการศึกษาคุณลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างคนพิการพบว่า ส่วนมากเป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 60-74 ปี มีสถานภาพสมรสยังคงสมรสอยู่ อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ไม่ทำงาน มีความพิการทางการมองเห็น มีระยะเวลาพิการนาน 5 ปี หรือตํ่ากว่า ไม่มีความสำบากในการประกอบกิจวัตรประจำวัน ไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ และมีความต้องการด้านบริการและการสงเคราะห์จากภาครัฐ ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ กับความต้องการด้านบริการและการสงเคราะห์จากภาครัฐพบว่า ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ตัวแปรอิสระทั้ง 10 ตัว สามารถอธิบายความแปรผันของตัวแปรตามได้ร้อยละ 2.6 โดยตัวแปรอิสระภายใต้ปัจจัยเสริมแรงเป็นปัจจัยอันดับแรกที่สามารถอธิบายความแปรผันของตัวแปรตามได้ร้อยละ 1.3 รองลงไปได้แก่ ตัวแปรอิสระภายใต้ปัจจัยทางประชากร และตัวแปรอิสระภายใต้ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสามารถอธิบายความแปรผันของตัวแปรตามได้ไล่เลี่ยกัน คือ ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.6 ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบว่า ตัวแปรอิสระที่อธิบายตัวแปรตามได้ตามสมมติฐาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ เพศ เขตที่อยู่อาศัย การทำงาน และความลำบากในการประกอบกิจวัตรประจำวัน กล่าวคือ คนพิการที่เป็นเพศหญิง อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล ไม่ได้ทำงาน และมีความลำบากในการประกอบกิจวัตรประจำวัน มีสัดส่วนความต้องการด้านบริการและการสงเคราะห์จากภาครัฐมากกว่าคนพิการที่เป็นเพศชาย อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล ยังคงทำงานอยู่ และไม่มีความลำบากในการประกอบกิจวัตรประจำวัน