Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของก๋องปู่จา ศึกษาองค์ประกอบและระบบเสียงของก๋องปู่จา ศึกษาภูมิปัญญาการสร้างก๋องปู่จา และศึกษาระเบียบวิธีปฏิบัติก๋องปู่จา ซึ่งมีขอบเขตการศึกษาเฉพาะพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ใช้หลักมานุษยวิทยา คือ การสังเกตทั่วไป การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์ การบันทึกภาพและการบันทึกเสียงผู้ที่เกี่ยวข้องกับก๋องปู่จาโดยตรงเป็นหลัก แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสรุปตามกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยมีดังนี้ ก๋องปู่จาเป็นกลองที่ใช้ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และใช้เป็นอาณัติสัญญาณในชุมชนท้องถิ่นมาช้านาน ก๋องปู่จาประกอบด้วยองค์ประกอบใหญ่ ๆ อยู่ 3 ส่วน ได้แก่ ก๋องตึ้ง(ต้าง) ก๋องลูกตุ๋บ และก๊างก๋อง(ค้างกลอง) ก๋องตึ้ง ทำจากไม้เนื้อแข็ง อาทิ ไม้ประดู่ ไม้เต็ง ไม้สัก มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 0.75-1.20 เมตร ยาวประมาณ 1.20 - 2.10 เมตร หุ้มด้วยหนังวัวหรือหนังควาย เป็นกลางที่ตั้งชื่อตามเสียงที่ได้ยินว่า ตึ้ง... ต้าง... และเรียกชื่อตามขนาดของกลองว่า ก๋องหลวง (กลองที่มีขนาดใหญ่) ก๋องลูกตุ๊บ ทำจากไม้เนื้อแข็งเช่นกัน แต่ทำการลดสัดส่วนย่อขนาดลงมาจากก๋องตึ้ง ใช้ตีสลับสอดประสานก๋องตึ้งในจังหวะต่าง ๆ และก๊างก๋อง เป็นที่สำหรับแขวนหรือวางตัวกลอง ระบบเสียงของก๋องปู่จา มีทิศทางการเคลื่อนที่ของเสียง 2 ลักษณะ คือ การเคลื่อนที่ของเสียงตามโครงสร้างแบบต๊อง(ท้อง)เดียว และการเคลื่อนที่ของเสียงตามโครงสร้างแบบสองต๊อง(ท้อง) ส่วนภูมิปัญญาการสร้างก๋องปู่จาแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ การสร้างหุ่นกลองและการหุ้มหนังหน้ากลอง ด้านระเบียบวิธีปฏิบัติก๋องปู่จาสามารถจำแนกได้เป็น 4 ลักษณะ คือ ระเบียบวิธีปฏิบัติก๋องปู่จานัดหมายประชุม ระเบียบวิธีปฏิบัติก๋องปู่จาบอกเหตุฉุกเฉิน ระเบียบวิธีปฏิบัติก่องปู่จาหลังจากพระธรรมเทศนาจบ หรือพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเสร็จสิ้น และระเบียบวิธีปฏิบัติก๋องปูจาบูชาขันแก้วทั้งสามหรือบูชาพระรัตนตรัย