Abstract:
บุคลากรสาย ง ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่พนักงานขับรถ พนักงานรักษาความปลอดภัย นักการภารโรง คนงาน คนสวน ช่างทั่วไป หรือผู้ให้บริการแรงงานทั่วไปตามแต่ที่หน่วยงานมอบหมาย ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยและบางส่วนได้รับสวัสดิการให้พักอาศัยในหอพักเป็นระยะเวลานานจึงส่งผลให้ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มที่พักอาศัยในหอพักจุฬานิวาสนี้ มีการวางแผนทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยหรือไม่ อย่างไร ตลอดจนปัญหาอุปสรรคของการวางแผนทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังได้ศึกษาถึงสภาพความเป็นอยู่ ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมของบุคลากรกลุ่มนี้ โดยใช้วิธีแจกแบบสอบถามในขั้นต้นเพื่อเข้าไปสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 99 ราย และทำการสำรวจพื้นที่ ถ่ายภาพ แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือให้บุคลากรมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองต่อไป ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 59 ของกลุ่มประชากรมีการวางแผนทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย โดยผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 41-50 ปี มีสมาชิกอยู่ร่วมกันในครอบครัวทั้งหมด 3 คน และจบการศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ รายได้ของครอบครัวต่อเดือนโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 15,000 บาท มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และลักษณะการครอบครองที่อยู่อาศัยในอดีตโดยมากเป็นลักษณะการเช่า นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 47.5 ของผู้ที่พักอาศัยในหอพักสวัสดิการได้พักอาศัยมานานเกินกว่า 10 ปี สำหรับปัญหาเกี่ยวกับหอพักสวัดิการที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาด้านสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะด้านกลิ่นและเสียง รองลงมาคือปัญหาด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่ขาดการดูแลรักษา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งรูปแบบของที่อยู่อาศัยที่ต้องการมากที่สุดคือ ทาวน์เฮาส์ งบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อที่อยู่อาศัยเฉลี่ยประมาณ 639,535 บาท โดยร้อยละ 97.0 ใช้วิธีจัดการเพื่อที่อยู่อาศัยด้วยการกู้เงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะขอกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ สำหรับค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยต่อเดือนจะอยู่ที่ในช่วง 31-50% ของรายได้ โดยส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาในการวางแผนด้านที่อยู่อาศัยประมาณ 1 ปี ด้านอุปสรรคในการวางแผนที่คาดว่าจะพบมากที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น รองลงมาคือ รายได้ไม่เพียงพอ สำหรับผู้วางแผนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยทั้งหมดมีการออม ซึ่งส่วนใหญ่จะฝากกับสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการออมเพื่อเป็นรายจ่ายในอนาคตของครอบครัวเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะมีการวางแผนด้านการออมและการกู้เพื่อที่อยู่อาศัย มีเพียงส่วนน้อยที่วางแผนด้านการลงทุน ทั้งนี้เนื่องมาจากไม่มีเงินเหลือพอและไม่มีความรู้ในการลงทุน เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้เลือกศึกษาเฉพาะกลุ่มบุคลากรสาย ง ของจุฬาฯที่ได้รับสวัสดิการให้พักอาศัยในหอพัก หากมีการขยายการศึกษาไปยังกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสวัสดิการและบุคลากรระดับอื่น ทั้งที่อยู่ในหน่วยงานของภาคเอกชนและรัฐบาลจะทำให้ทราบประเด็นปัญหาที่ชัดเจน ถูกต้องและครอบคลุมประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย และใช้เป็นฐานข้อมูลให้กับหน่วยงานในการพิจารณานโยบาลช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกจ้างเพื่อให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้