Abstract:
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบค้นสาเหตุการประสบอันตรายและเกิดโรคจากการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในสถานประกอบการที่มีอัตราประสบอันตรายและการเกิดโรคจากการทำงานสูงกว่า 26 รายต่อลูกจ้าง 1,000 คนในจังหวัดระยองปี 2546 โดยใช้ประชากรตัวอย่างเป็นสถานประกอบการที่มีอัตราการประสบอันตรายฯ สูงจำนวน 400 แห่งและเก็บข้อมูลโดยแบบสอบถาม 2 ชุดโดยทำการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการและลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเกิดโรคจากการทำงานในปี 2546 ผลการศึกษาพบว่า สถานประกอบการตอบแบบสอบถามจำนวน 283 ชุด (ร้อยละ 70.75) ลักษณะงานที่ลูกจ้างประสบอันตราย 5 อันดับแรก คือ การใช้แรงงานแบกหาม, การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรที่มีการเคลื่อนไหว, การทำงานเชื่อมเหล็ก, การทำงานแปรรูปไม้, การทำงานกับเครื่องปั้มโลหะ, อัตราประสบอันตรายเฉลี่ยเป็น 51.86 รายต่อลูกจ้าง 1,000 คน และพบว่าการกระทำที่ไม่ปลอดภัยมีความถี่สะสมมากกว่าสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยที่ทำให้ลูกจ้างประสบอันตรายในปี 2546 โรคจากการทำงานที่พบมากที่สุดคือกระจกตาอักเสบ (ร้อยละ 39.50) โรคหูเสื่อมจากการสัมผัสเสียงดังพบมากเป็นอันดับที่ 2 (ร้อยละ 26.62) และโรคผิวหนังจากการสัมผัสสารเคมีพบมากเป็นอันดับที่ 3 (ร้อยละ 20.13) และพบว่าเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยฯมีความเห็นว่าลูกจ้างไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมากที่สุดจึงทำให้ลูกจ้างเกิดโรคจากการทำงาน ผลจากงานวิจัยนี้สามารถนำไปปรับปรุงการกระทำที่ไม่ปลอดภัย สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยและสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ เพื่อลดการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานในจังหวัดระยอง และสามารถทำการวิจัยเชิงวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวของสถานประกอบการในจังหวัดระยอง