Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาถึงหลักเกณฑ์ในการควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยศาลปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาและคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวข้องในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ จากการศึกษาพบว่าในประเทศที่เป็นนิติรัฐนั้น การใช้อำนาจขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยจะต้องกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายและมีการตรวจสอบการใช้อำนาจได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมิใช่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล ตามมาตรา 276 ของรัฐธรรมนูญ (คำวินิจฉัยที่ 24/2543) และหากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งได้แก่ ก.ก.ต. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง (3) เป็นการใช้อำนาจดังเช่นตุลาการและเป็นยุติ (คำวินิจฉัยที่ 562/2546) ส่งผลให้ศาลปกครองไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของ ก.ก.ต. ในกรณีดังกล่าวได้ ดังนั้น สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาจถูกละเมิดจาการใช้อำนาจดังกล่าวจึงไม่อาจใช้สิทธิเยียวยาในทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้ ตามมาตรา 28 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญและอาจไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ และการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วย่อมเด็ดขาดและผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กรทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้รับการรับรองคุ้มครองจากการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองและอำนาจหน้าที่ของ ก.ก.ต. เพื่อให้ศาลปกครองสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของ ก.ก.ต. ได้ภายในขอบเขตที่เหมาะสม และได้เสนอวิธีการให้ศาลปกครองออกระเบียบวิธีพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นนอกจาก ก.ก.ต. แล้ว ผู้เขียนมิได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นนั้นอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองถ้าหากว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น ๆ ใช้อำนาจปกครองหรืออำนาจมหาชน