Abstract:
ศึกษาระดับความเครียดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดของผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ ที่พักรักษาตัว แผนกอุบัติเหตุ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 106 คน เป็นชาย 87 คน หญิง 19 คน ทำการวิจัยช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2548 เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินบุคลิกภาพ และแบบวัดความเครียดของผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ, ค่าเฉลี่ย, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, t-test, one way ANOVA, chisquare test, Pearson correlation และ stepwise multiple linear regression ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุที่รับไว้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ส่วนใหญ่ มีความเครียดอยู่ในระดับต่ำคิดเป็น 49.06% รองลงมาคือมีความเครียดระดับปานกลางและระดับสูงจำนวนเท่ากัน คิดเป็น 25.47% ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ ความรุนแรงของการบาดเจ็บแบบมีภาวะทุพพลภาพชั่วคราว ค่ารักษาพยาบาลที่ผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสังคม สังคมสงเคราะห์ และผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท บุคลิกภาพแบบมั่นคงและหวั่นไหวในสภาวะอารมณ์ ความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือคดีความในกรณีที่คู่กรณีเป็นฝ่ายถูก แรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยที่มีญาติ และในกรณีทีไม่มีคู่สมรส บทบาทที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัว บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอื่นที่ไม่ใช่บริเวณหน้า และความพึงพอใจในการได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัว ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องสามารถเป็นตัวพยากรณ์ความเครียดของผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ ที่รับไว้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ได้แก่ บุคลิกภาพแบบมั่นคงและหวั่นไหวในสภาวะอารมณ์ ผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ส่วนที่ระดับ .05 ได้แก่ บทบาทที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งตัวแปรทั้ง 3 ตัวนี้ สามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความเครียดของผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุได้ โดยมีประสิทธิภาพในการทำนาย 58%