Abstract:
แสงสว่างเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการออกแบบปรับปรุงอาคารประวัติศาสตร์เพื่อรองรับประโยชน์ใช้สอยใหม่ตามแนวทางการอนุรักษ์เชิงพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้แสงประดิษฐ์ที่เป็นแสงสว่างสมัยใหม่เพิ่มเติมในอาคารประวัติศาสตร์ ย่อมมีแนวคิดและข้อควรพิจารณาในการออกแบบที่แตกต่างไปจากอาคารร่วมสมัยโดยทั่วไป อันเป็นที่มาและวัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ การออกแบบระบบแสงสว่างในอาคารประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ 1.) อาคารที่ยังคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและลักษณะการใช้งานแบบเดิม 2.) อาคารที่จำเป็นต้องรักษาสภาพเดิมไว้ แต่มีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน 3.) อาคารที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ โดยอาคารในประเภทแรกจะมีรูปแบบการใช้แสงสว่างไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก หรืออาจมีการเพิ่มเติมแสงสว่างให้เหมาะสมกับบรรยากาศของพื้นที่และรูปแบบอาคารเป็นหลัก ขณะที่ในอาคารประเภทที่สองและสาม จะเปิดโอกาสให้มีการประยุกต์ใช้แสงสว่างสมัยใหม่เพื่อรองรับการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลด้านต่าง ๆ ประกอบกัน สามารถสรุปแนวทางในการพิจารณาประยุกต์ใช้แสงประดิษฐ์ในอาคารประวัติศาสตร์ ได้ดังนี้ 1.) การศึกษาประวัติความเป็นมาและลักษณะที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายใน 2.) การศึกษาความต้องการแสงสว่างสำหรับการใช้งาน 3.) การกำหนดรูปแบบและวิธีการให้แสงสว่างที่เหมาะสมกับตัวอาคารและการใช้งาน
เมื่ออาศัยแนวทางข้างต้นเป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์การใช้แสงสว่างในกรณีตัวอย่างอาคารประวัติศาสตร์ที่ปรับปรุงใหม่เปลี่ยนแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้เลือกมาศึกษา พบว่าสามารถอธิบายให้เห็นถึงลักษณะสำคัญบางประการ เช่น รูปแบบทางสถาปัตยกรรม ลักษณะของพื้นที่ภายใน ประเภทของการจัดแสดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อแนวคิดและรูปแบบการใช้แสงสว่าง ในทางใดทางหนึ่งแล้วแต่กรณี นำไปสู่การกำหนดข้อควรพิจารณาการออกแบบระบบแสงสว่างในอาคารประวัติศาสตร์สำหรับงานพิพิธภัณฑ์ที่สอดคล้องกัน ประกอบด้วย 1.) ข้อควรพิจารณาด้านตัวอาคาร แบ่งออกเป็น การศึกษาประวัติความเป็นมา, รูปแบบและลักษณะทางศิลปกรรมสถาปัตยกรรมที่สำคัญ และวิเคราะห์ศักยภาพในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายใน 2.) ข้อควรพิจารณาด้านการใช้งาน ได้แก่ การกำหนดเนื้อหาของวัตถุ รูปแบบและประเภทการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ สิ่งสำคัญคือระบบแสงสว่างสำหรับพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบปรับปรุงขึ้นใหม่ ควรรองรับการจัดแสดงได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์และการมองเห็นวัตถุจัดแสดงควบคู่กันไป ส่งเสริมความหมายและลักษณะสำคัญของอาคารเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจากการสำรวจเพื่อศึกษาวิเคราะห์การใช้แสงสว่างในกรณีศึกษาอาคารหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พบว่าปัญหาที่สำคัญคือ รูปแบบลักษณะการให้แสงสว่างโดยรวมที่คล้ายคลึงกันเกือบทั้งอาคารทำให้ขาดความน่าสนใจ ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างการใช้แสงสว่างกับการส่งเสริมลักษณะสำคัญทางสถาปัตยกรรมภายในไม่ชัดเจนปรับปรุงการใช้แสงสว่างในหมู่พระวิมาน ได้แก่ 1.) ใช้ประโยชน์จากการประสานแสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์ 2.) แสงสว่างทั่วไปสำหรับเสริมสร้างบรรยากาศของพื้นที่ 3.) แสงสว่างสำหรับวัตถุจัดแสดง ทำหน้าที่เสมือนเป็นองค์ประกอบใหม่ของอาคาร โดยนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ในการทดลองออกแบบปรับปรุงระบบแสงสว่างในพระที่นั่งสองหลังของหมู่พระวิมาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการออกแบบที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่