Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องการสร้างบารมีของวัดพระธรรมกาย ในด้านแนวคิดวิธีการ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาวิเคราะห์ถึงความสอดคล้องของคำสอนเรื่องนี้กับหลักธรรมในคัมภีร์พุทธเถรวาท รวมทั้งวิเคราะห์จากกรอบความคิดในด้านสังคมวิทยาศาสนาด้วย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารในด้านคำสอนเรื่องบารมีของวัดพระธรรมกาย หลักธรรมที่เกี่ยวข้องในพระไตรปิฎกและอรรถกถา และความเห็นของบุคคลต่างๆ ที่แสดงไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับคำสอนของวัดพระธรรมกาย ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดเรื่องบารมีของวัดพระธรรมกายนั้น สอดคล้องกับหลักธรรมในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ที่เด่นชัดคือ ในพระสูตร ทีปังกรพุทธวงศ์ ว่าด้วยพระประวัติของพระทีปังกรพุทธเจ้า และในพระสูตรจริยาปิฎก ส่วนวิธีการสร้างบารมีของวัดพระธรรมกายนั้น ได้มีการสรุปเรื่องบารมี 10 ทัศนี้ อยู่ในรูปของหลักธรรมบุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา แต่เป็นการปฏิบัติบุญกิริยาวัตถุ 3 ที่เป็นบารมี คือ กระทำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย กระทำอย่างยิ่งยวดแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตามแบบอย่างของพระโพธิสัตว์ ที่มีปรากฎใน พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นการติความที่มีเหตุผลตามหลักธรรมรองรับ สำหรับการวิเคราะห์ตามกรอบความคิดของสังคมวิทยาศาสนานั้น ผู้วิจัยเห็นว่า เหตุที่คำสอนเรื่องการสร้างบารมีของวัดพระธรรมกายสามารถทำให้มีประชาชนเสื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมากนั้น น่าจะมีผลมาจากคำสอนที่สามารถชี้แจงให้เห็นเหตุและผลได้อย่างเป็นขั้นตอน ง่ายต่อการปฏิบัติ และผู้สอนสามารถปฏิบัติตนให้เห็นเป็นแบบอย่างได้จริง ซึ่งผู้ที่นำคำสอนไปปฏิบัติสามารถเห็นผลดีได้จริงในชีวิตประจำวัน ส่วนความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับคำสอนเรื่องการสร้างบารมีของทางวัดพระธรรมกายนั้น น่าจะมีอยู่หลายสาเหตุหลักด้วยกัน คือ ข้อกล่าวหาทางคำสอนเชิงอภิปรัชญาว่าผิดเพี้ยน การใช้หลักธรรมที่ต่างกันในการติความ การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัดที่ไม่ชัดเจน การปฏิเสธวิธีการใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากประสบการณ์ของตน และปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ของวัด ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมแล้ว คำสอนเรื่องการสร้างบารมีของวัดพระธรรมกายนี้ จัดเป็นแนวทางหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาเถรวาท และมีประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนผู้นำไปปฏิบัติ หากทางวัดพระธรรมกายเพิ่มเติมเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับหลักธรรมพุทธศาสนาเถรวาทที่รองรับคำสอนของทางวัด ก็น่าที่จะทำให้กระแสความไม่เห็นด้วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ลดลงไปในที่สุด