Abstract:
จุดประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้มุ่งการตีความประโยค "การปกครองโดยไม่ปกครอง" ที่ปรากฏในคัมภีร์ เต๋า เต็ก เก็ง โดยใช้ระเบียบวิธีการตีความแบบ hermeneutical circle ผสานกับทัศนะของ Hans-Georg Gadamer ซึ่งในเบื้องต้น ผู้วิจัยได้สร้างทัศน์ปรัชญาเต๋าขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการทำความเข้าใจและช่วยในการตีความในส่วนอื่นๆ ผลการวิจัยพบว่า การปกครองโดยไม่ปกครอง คือ การปกครองที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ ปราศจากการสร้างวาทกรรมใดๆ ขึ้นมาครอบงำประชาชนและสามารถเอื้ออำนวยให้แต่ละสรรพสิ่งได้ดำเนินไปตามวิถีของตน ดังนั้น ลัทธิเต๋าจึงมุ่งให้ผู้ปกครองดำเนินตามหลักการสองข้อ คือ ศาสตร์แห่งการปกครอง คือ การให้ผู้ปกครองเรียนรู้วิถีในการปกครองจากธรรมชาติ และศิลปะแห่งการปกครองคือ การที่ผู้ปกครองรู้จักใช้อำนาจในแบบที่ไม่เป็นการสร้างวาทกรรมขึ้นมา ดังนั้น ภายใต้การปกครองโดยไม่ปกครอง ประชาชนจะสามารถดำรงชีวิตอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติและมีอิสระจากการครอบงำทางวาทกรรมใดๆ ของผู้ปกครอง นอกจากนี้อำนาจทางการปกครองที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน และประชาชนสามารถดึงเอาอำนาจของตนกลับมาได้ด้วยเนื่องจากประชาชนไม่ได้มอบอำนาจให้กับผู้ปกครองอย่างเด็ดขาด