Abstract:
เนื่องจากโลหะตะกั่วเป็นโลหะที่มีความเป็นพิษสูงและอาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ จึงได้มีการพัฒนาวิธีตรวจวัดหาปริมาณตะกั่วในแหล่งน้ำหรือที่ต่าง ๆ ซึ่งการวิเคราะห์จำเป็นต้องใช้ความเข้มข้นของ Pb2+ สูงแต่ปริมาณโลหะตะกั่วในธรรมชาติมีอยู่น้อยมาก จึงไม่สามารถตรวจวัดได้ ดังนั้น จึงต้องมีเทคนิคที่ใช้เพิ่มความเข้มข้นของ Pb2+ ให้สูงขึ้นก่อนจะนำไปตรวจวัดด้วยเทคนิควิเคราะห์ ซึ่งเทคนิคนี้คือ การสกัดระดับจุลภาคแบบสามวัฏภาคโดยใช้เมมเบรนเส้นใยกลวง โดยอันดับแรกมีการศึกษาหา chelating agent ที่เหมาะสมในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับไอออนของตะกั่วเพื่อใช้ในการตรวจวัดด้วยเทคนิคทางสเปกโตรโฟโตเมตรี จากการศึกษาพบว่า 4-(2-pyridylazo)resorcinol (PAR) เป็น chelating agent ที่ดี ให้สีเมื่อจับกับไอออนของตะกั่วโดยต้องใช้บัฟเฟอร์ NH3-NH4Cl ในการควบคุม pH ให้มีค่าเท่ากับ 10 จากนั้นมีการศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนดังกล่าว โดยตอนแรกศึกษาในปริมาตรมาก แต่ต่อมาศึกษาในปริมาตรน้อย เนื่องจากหลังการสกัดจะได้สารละลายรับที่มี Pb2+ อยู่ซึ่งมีปริมาตรน้อยมากและการจะนำไปวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางสเปกโตโฟโตเมตรีนั้นใช้ปริมาตรสารน้อยถึงระดับไมโครลิตร ซึ่งพบว่าสภาวะที่ Pb2+/HCl 0.01 M ผสมกับ PAR 0.03 % ในเอทานอล และบัฟเฟอร์ NH3-NH4Cl ที่จำเป็นต้องใช้ปริมาตรถึง 50 μL พบว่าบัฟเฟอร์มีความสำคัญในการปรับสภาวะให้ Pb2+-complex ได้สภาวะที่เหมาะสมที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปริมาณตะกั่วได้ หลังจากนำสภาวะดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับเทคนิคการสกัด พบว่าเทคนิคการสกัดนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการเพิ่มความเข้มข้นของ Pb2+ ให้สูงขึ้นจากการที่ Pb2+-PAR complex ให้ค่าการดูดกลืนแสงสูงมากเมื่อนำไปตรวจวัด แม้จะเจือจางสารละลายตัวอย่างที่ใช้ในการสกัดไปถึง 10 50 และ 300 เท่า และอาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกเกี่ยวกับตัวแปรหรือปัจจัยที่มีผลต่อการสกัด ดังนั้น เทคนิคการสกัดระดับจุลภาคแบบสามเฟสโดยใช้เมมเบรนเส้นใยกลวงร่วมกับเทคนิคทางสเปกโตรโฟโตเมตรีสามารถนำไปใช้ได้จริงในการสกัด Pb2+ ในน้ำหรือสารตัวอย่าง