Abstract:
ในคดีละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ได้รับความเสียหายมักประสบปัญหาในการพิสูจน์ความผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการรักษา เนื่องจากความประมาทเลินเล่อเช่นว่านี้ ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้โดยง่าย แม้ในอดีตจะได้มีการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ และมีข้อเสนอแนะให้นำหลักความรับผิดทางวิชาชีพมาปรับใช้กับความรับผิดทางละเมิดของผู้ประกอบวิชาชีพ เนื่องจากเป็นหลักที่ผลักภาระในการพิสูจน์ความประมาทเลินเล่อ ไปให้กับผู้ประกอบวิชาชีพเป็นผู้นำสืบเพื่อให้ตนพ้นผิด และในประเทศไทยนั้นอาจอาศัยหลักข้อสันนิษฐานความผิดตามมาตรา 422 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้ามาเทียบเคียงได้เนื่องจากให้ผลสุดท้ายเช่นเดียวกับหลักความรับผิดชอบทางวิชาชีพ อย่างไรก็ดี ต่อมาเมื่อมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาลของรับและผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาลของเอกชน และทำให้การปรับใช้หลักความรับผิดทางวิชาชีพไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร การกำหนดกฎหมายในเรื่องความรับผิดทางละเมิดของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมขึ้นมาโดยเฉพาะโดยนำหลักข้อสันนิษฐานความผิดมาปรับใช้ ประกอบกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ใช้สิทธิไล่เบี้ยความรับผิดได้เฉพาะกรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ดีในบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติหน้าที่โดยใกล้ชิดกับผู้รับบริการยิ่งกว่าการประกอบวิชาชีพอื่น และการคำนึงถึงสิทธิของผู้รับบริการซึ่งได้รับความเสียหายในอันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิด จะทำให้การคุ้มครองสิทธิหรือสุขภาพของผู้ป่วย รวมทั้งขอบเขตความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความสมบูรณ์และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น