Abstract:
ความเป็นมา : การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอย่างหนึ่ง จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2544 มีเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี ติดบุหรี่ถึง 1.5 ล้านคน วิธีการศึกษา : การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา โดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเองสำรวจมุมมองเรื่องการสูบบุหรี่และการให้ความสำคัญในนโยบายและกิจกรรมรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของนักเรียนโรงเรียนนายเรือซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในโรงเรียน ปีการศึกษา 2548 ทุกชั้นปีรวม 516 คน โดยไม่มีการสุ่มตัวอย่าง ผลของการศึกษา : ความร่วมมือในการตอบกลับเป็นร้อยละ 98.5 นักเรียนนายเรือมีอายุเฉลี่ย 21.6 ปี เกรดเฉลี่ย 2.8 รายได้เฉลี่ยประมาณคนละ 4,800.0 บาทต่อเดือน นักเรียนนายเรือส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69.2) ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 12.6 เคยสูบบุหรี่แต่เลิกแล้ว และมีเพียงร้อยละ 18.3 ที่ปัจจุบันยังสูบบุหรี่อยู่โดยเป็นการสูบเวลาออกจากโรงเรียน อัตราการการสูบบุหรี่สูงสุดในนักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 4 ในกลุ่มที่สูบบุหรี่ในปัจจุบันมีความวิกตกังวลในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาร้อยละ 50.5 มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ร้อยละ 46.2 และมีเพื่อนสนิทที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 98.9 ในขณะที่นักเรียนที่ไม่สูบบุหรี่ทั้งหมดในปัจจุบันมีความวิตกกังวล มีบุคคลในครอบครัวที่สูบบุหรี่ และมีเพื่อนที่สนิทสูบบุหรี่ร้อยละ 40.6, 34.3 และ 86.4 ตามลำดับ ความตั้งใจที่จะไม่สูบบุหรี่แน่นอนหลังจากจบเป็นนายทหารแล้ว ร้อยละ 85.2 ในกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 39.1 ในกลุ่มที่เคยสูบแต่เลิกแล้วและร้อยละ 12.9 ในกลุ่มที่ปัจจุบันยังสูบ นักเรียนนายเรือส่วนใหญ่ให้มุมมองในเรื่องการสูบบุหรี่ว่าบุหรี่เป็นโทษเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองและคนข้างเคียง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และเป็นภาพพจน์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้หญิง มุมมองในเรื่องการสูบบุหรี่ไม่แตกต่างกันตามชั้นปี แต่แตกต่างกันตามสภาพการสูบบุหรี่ในปัจจุบันอย่างนัยสำคัญทางสถิติและเกินกว่าร้อยละ 50 (11ใน17ข้อ) ของกิจกรรมรณรงค์ที่มี พบว่ามีความแตกต่างกันตามสภาพการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้วย