Abstract:
พระราชบัญญัติมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 อนุญาตให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถซื้อหุ้นของตนเองคืนได้ใน 2 กรณี คือ (1) เพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อยซึ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับในบางประการ และ (2) เพื่อบริหารทางการเงิน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าบทบัญญัติดังกล่าวยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนและข้อบกพร่องบางประการซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในทางปฏิบัติ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งได้แก่ ปัญหาการตีความเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการซื่อหุ้นคืน และปัญหาความไม่ชัดเจนและข้อบกพร่องของบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจในการตัดสินใจซื้อหุ้นคืน การซื้อหุ้นคืนเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นข้างน้อย การลดทุนเนื่องจากจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนไม่หมด การซื้อหุ้นคืนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 1.ในการตีความเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน ควรตีความโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่ควรตีความแหล่งเงินทุนให้จำกัดอยู่เฉพาะในส่วนของกำไรสะสมเท่านั้น 2.เพิ่มเติมและแก้ไขบทบัญญัติของพระราชบัญญัติมหาชนฯ ในเรื่อง ดังนี้ 2.1 กำหนดให้อำนาจในการตัดสินใจซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงินเป็นของผู้ถือหุ้นในกรณีที่เป็นการซื้อหุ้นคืนที่เกินร้อยละสิบของทุนที่ชำระแล้ว หรือการซื้อหุ้นคืนที่ไม่เกินร้อยละสิบของทุนที่ชำระแล้วแต่ข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น 2.2 การซื้อหุ้นคืนเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อยควรแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องดังนี้ (ก) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของบริษัทให้ต้องซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 66/1(1) (ข) เพิ่มเติมกิจกรรมที่เป็นเหตุให้บริษัทมีหน้าที่ต้องซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นซึ่งไม่เห็นด้วย ซึ่งได้แก่ การดำเนินการของบริษัทซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 107 (2) การควบบริษัท และการอื่นๆ ซึ่งข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ (ค) ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้น ในการคัดค้านราคาหุ้นที่บริษัทเสนอซื้อ และหากไม่สามารถตกลงราคาหุ้นได้ควรกำหนดบริษัทยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณากำหนดราคาหุ้นที่เป็นธรรม 2.3 กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการลดทุนจดทะเบียนเนื่องจากจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนไม่หมดไว้ให้ชัดเจน 2.4 กำหนดโทษของการซื้อหุ้นคืนที่ฝ่าฝืนกฎหมายไว้ให้ชัดเจน