Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจในบริการของผู้ป่วยก่อนและหลังการใช้การดูแลแบบพยาบาลเจ้าของไข้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสมอง กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดสมองในหอผู้ป่วยศัลยกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 2 กลุ่ม และกลุ่มทดลอง 1 กลุ่ม คัดเลือกเข้ากลุ่มโดยวิธีการจับคู่ตามลักษณะของเพศและอายุ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการทดลอง ได้แก่ โปรแกรมการดูแลแบบพยาบาลเจ้าของไข้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสมอง โดยใช้แนวคิดการดูแลแบบพยาบาลเจ้าของไข้ของ Marram et al. (1979) และ Macguire (1989) คู่มือการดูแลแบบพยาบาลเจ้าของไข้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสมอง แบบทดสอบความรู้เรื่อง การดูแลแบบพยาบาลเจ้าของไข้และการผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดสมอง เครื่องมือที่ใช้ในการกำกับการทดลอง ได้แก่ แบบสังเกตการดูแลผู้ป่วยแบบพยาบาลเจ้าของไข้ และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลการทดลอง ได้แก่ แบบสอบถามความพึงพอใจในการบริการพยาบาลของผู้ป่วย เครื่องมือวิจัยทั้งหมดผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ และตรวจสอบความเที่ยงของแบบสอบถามความรู้เรื่องการดูแลแบบพยาบาลเจ้าของไข้ และการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสมอง ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 1 ส่วนแบบสังเกตการดูแลผู้ป่วยแบบพยาบาลเจ้าของไข้และแบบสอบถามความพึงพอใจในบริการพยาบาลของผู้ป่วย ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .90 และ .93 ตามลำดับ วิธีการดำเนินการทดลอง คือผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ 1 และกลุ่มควบคุมที่ 2 จะได้รับบริการพยาบาลตามปกติ และตอบแบบสอบถามความพึงพอใจในการบริการพยาบาลของผู้ป่วยก่อนจำหน่ายออกจากหอผู้ป่วย ส่วนกลุ่มทดลอง จะได้รับบริการตามแนวทางการดูแลแบบพยาบาลเจ้าของไข้ และตอบแบบสอบถามความพึงพอใจในบริการพยาบาลเช่นกัน นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สถิติ โดยใช้ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ ความพึงพอในในบริการพยาบาลโดยรวมของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสมอง กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองหลังการใช้โปรแกรมการดูแลแบบพยาบาลเจ้าของไข้สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดสมอง ไม่แตกต่างกัน แต่ความพึงพอใจในบริการพยาบาลเกี่ยวกับการแนะนำตนเองก่อนให้การพยาบาล การได้รับการดูแลจากพยาบาลคนเดิมอย่างต่อเนื่อง การเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน และการให้คำแนะนำเมื่องจำหน่ายออกจากโรงพบาบาล ในกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม