Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับความหมายหรือระบบสัทอรรถลักษณะในภาษาไทยวนหรือคำเมืองเชียงใหม่ (อำเภอหางดง) โดยข้อมูลที่นำมาศึกษา คือ คำแฝงอารมณ์ความรู้สึกจากเอกสารและจากข้อมูลภาคสนาม ในการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับความหมายนั้น ผู้วิจัยได้แบ่งคำแฝงอารมณ์ความรู้สึกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ คำแฝงอารมณ์ความรู้สึกที่เสียงกับความหมายเชื่อมโยงกันแบบสมบูรณ์ และ คำแฝงอารมณ์ความรู้สึกที่เสียงกับความหมายเชื่อมโยงกันแบบสัญบัญญัติ หรือ แบบการตกลงกำหนดขึ้น และได้แยกข้อมูลออกตามการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ คือ หู ตา จมูก ลิ้น สัมผัส ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าส่วนประกอบทุกส่วนของคำแฝงอารมณ์ความรู้สึกภาษาไทยวนสามารถแสดงความสัมพันธ์กับความหมายได้ กล่าวคือ เสียงพยัญชนะต้นและเสียงพยัญชนะท้ายมีความสัมพันธ์กับความหมาย ในด้านการเคลื่อนไหวและการเคลื่อนที่รวมถึงคุณสมบัติบางประการของสิ่งที่กล่าวถึง ส่วนเสียงสระมีความสัมพันธ์กับความหมายในด้านขนาด ปริมาณและรูปร่าง และการซํ้าพยางค์แสดงว่าเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายครั้งหรือสิ่งที่พูดถึงนั้นมีหลายขนาดและหลายอันซึ่ง การที่เสียงดังกล่าวแสดงความสัมพันธ์กับความหมายนั้นสามารถอธิบายได้ในทางสัทศาสตร์