Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาภาวะการเจ็บป่วยของประชากรไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปตามลักษณะภูมิหลังของประชากร 2) เพื่อศึกษาการเลือกใช้วิธีรักษาพยาบาลและปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้วิธีรักษาพยาบาลของประชากรไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีการเจ็บป่วยและ 3) เพื่อศึกษาลักษณะการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2544 ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกในครัวเรือนตัวอย่างสำหรับการศึกษาในครั้งนี้ได้เลือกศึกษาเฉพาะประชากรอายุ 50 ปี ขึ้นไปซึ่งมีจำนวนตัวอย่างที่ถ่วงน้ำหนักแล้วทั้งสิ้น 39,324 คน ผลการศึกษาเกี่ยวกับภาวะการเจ็บป่วยของประชากรไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีการเจ็บป่วยในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการสัมภาษณ์พบว่ามีผู้ที่เจ็บป่วยร้อยละ 29.4 โดยปัจจัยที่มีผลต่อภาวะการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพเขตที่อยู่อาศัยรายได้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลระดับการเจ็บป่วยและการตวรจร่างกายประจำปี การวิเคราะห์ถดถอยลอจิต (multinomial logit regression) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้วิธีรักษาพยาบาล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพเขตที่อยู่อาศัยสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลระดับการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายประจำปีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 นอกจากนี้ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่ามีผู้เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดที่มีการเจ็บป่วยโดยเฉลี่ยผู้สูงอายุเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1.5 ครั้งโดยมีระยะเวลาเข้าพักรักษาตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 9 วันร้อยละ 14 ของผู้สูงอายุจ่ายค่ารักษาพยาบาลในการเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลด้วยตนเองแม้ว่ารัฐบาลจะมีสวัสดิการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้สูงอายุ