Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับการผลิตสินค้าคงเหลือต่อผลตอบแทนหลักทรัพย์ เพื่อนำผลการศึกษาไปใช้ในการพยากรณ์ราคาหุ้นสามัญในอนาคต การศึกษาใช้ตัวอย่างของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต 105 บริษัท โดยศึกษาจากข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงเวลา พ.ศ.2544-2547 โดยตัวแปรที่ศึกษาประกอบด้วย มูลค่าสินค้าคงเหลือที่ผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลง และการเปลี่ยนแปลงงานระหว่างทำ ซึ่งเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงระดับการผลิตสินค้าคงเหลืออีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบที่มีต่อผลตอบแทนหลักทรัพย์ โดยทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเปอร์เซ็นต์การผลิตสินค้าสำเร็จรูปคงเหลือ กับผลตอบแทนที่ไม่ปกติสะสม และทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงงานระหว่างทำ กับผลตอบแทนที่ไม่ปกติสะสม ผลการศึกษาพบว่าตัวแปรการเปลี่ยนแปลงเปอร์เซ็นต์การผลิตที่เพิ่มเข้าไปในสินค้าคงเหลือ มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับผลตอบแทนหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเปอร์เซ็นต์การผลิตที่เพิ่มเข้าไปในสินค้าคงเหลือสื่อให้ตลาดรับรู้ในมุมมองเชิงลบ เนื่องจากผู้บริหารส่วนใหญ่อาจมีแรงจูงใจที่จะทำการตกแต่งกำไร จึงทำการผลิตในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการในปัจจุบัน เพื่อที่จะปันส่วนต้นทุนคงที่เข้าไปยังสินค้าคงเหลือในงบดุล เป็นการลดต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าทำให้กำไรสุทธิสูงขึ้น และการผลิตที่สูงกว่ายอดชายจำนวนมากเป็นการสะท้อนกำไรที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งแตกต่างจากตัวแปรการเปลี่ยนแปลงงานระหว่างทำ ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงเหลือที่อยู่ระหว่างการผลิต โดยผลการศึกษาไม่พบความสัมพันธ์กับผลตอบแทนหลักทรัพย์ แสดงว่าตัวแปรการเปลี่ยนแปลงงานระหว่างทำอาจเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้รายงานทางการเงินไม่ได้นำไปวิเคราะห์เพื่อประเมินหามูลค่าที่เหมาะสมของกิจการ