Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาแนวความคิดที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูเมือง ตลอดจนเทคนิคและวิธีการวิเคราะห์โครงสร้างเชิงสัณฐานของเมือง / วิเคราะห์เปรียบเทียบโครงสร้างเชิงสัณฐานทางกายภาพในแง่ของรูปแบบของการใช้ประโยชน์ที่ดินและการสัญจร ความหนาแน่นของมวลอาคาร และโครงข่ายพื้นที่สาธารณะในเขตพื้นที่พัฒนาฯ พระราม 3 รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงโดยรอบก่อนและหลังการวางผังพัฒนา / ประเมินประสิทธิภาพของผังพัฒนาฯ พระราม 3 โดยวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างโครงสร้างเชิงสัณฐานทางกายภาพของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังการพัฒนากับโครงสร้างเชิงสัณฐานทางกายภาพของพื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบ / ความสามารถในการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงของพื้นที่ศึกษา รวมทั้งความสอดคล้องระหว่างศักยภาพการเข้าถึงของพื้นที่หลังการพัฒนากับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และความหนาแน่นของมวลอาคาร สุดท้ายเพื่อสรุปเป็นผลกระทบเชิงสัณฐานของเมืองจากผังพัฒนาฯ พระราม 3 และข้อเสนอแนะในการวางผังโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน พื้นที่พระราม 3 ก่อนการพัฒนามีศักยภาพในการเข้าถึงค่อนข้างต่ำ ขาดโครงข่ายถนนตัดผ่านภายในที่เพียงพอ รูปแบบมวลของอาคารในพื้นที่ค่อนข้างละเอียดเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย มวลอาคารขนาดใหญ่เป็นกลุ่มอาคารพาณิชยกรรม เกาะตัวตามแนวถนนหลักที่มีศักยภาพในการเข้าถึงสูง การวิเคราะห์พื้นที่ภายหลังการพัฒนาพบว่า พื้นที่พระราม 3 ในภาพรวมมีศักยภาพในการเข้าถึงที่สูงขึ้น พื้นที่โล่งว่างภายในมีการเข้าถึงมากขึ้นมีมวลอาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นทางด้านใต้ของพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารพาณิชยกรรมใหม่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามวลอาคารของย่านชุมชนเดิมอย่างมาก บริเวณดังกล่าวมีศักยภาพในการเข้าถึงที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับย่านชุมชนพักอาศัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผังพัฒนาฯ สร้างให้เกิดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพการเข้าถึงของโครงข่ายพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ เนื่องจากย่านธุรกิจใหม่ต้องการความคล่องตัวสูงในการสัญจร แต่พื้นที่ดังกล่าวกลับมีศักยภาพการเข้าถึงที่ต่ำอาจไม่สามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบได้ดีนัก และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดปัญหาจราจรตามมา ส่วนย่านชุมชนพักอาศัยเดิมนั้น การพัฒนาสร้างให้เกิดเส้นทางสัญจรที่มีศักยภาพในการเข้าถึงสูงมาก ซึ่งอาจทำให้เสียสภาพของการเป็นย่านพักอาศัยที่ต้องการความเงียบสงบกว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงย่านพักอาศัยดังกล่าวในย่านพาณิชยกรรมได้ ซึ่งนอกจากจะสร้างความไม่สอดคล้องระหว่างปริมาณจราจรและรูปแบบการใช้ที่ดินแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดความแออัดจากการสัญจรตามมา รวมทั้งการขาดความพร้อมในการรองรับของระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ที่ดีอีกด้วย ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องอย่างชัดเจนของผังที่เกิดขึ้นใหม่กับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและระบบการสัญจร อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การวางผังพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีผลกระทบต่อเมืองอย่างมากนั้น ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสัณฐานทางกายภาพของเมืองเป็นสำคัญ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ย่อมส่งผลกระทบต่อปัจจัยด้านอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ การวางผังพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ยังต้องพิจารณาศักยภาพในการเข้าถึงของพื้นที่ที่สอดคล้องกับเมืองในภาพรวมด้วย