Abstract:
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้งรวมทั้งการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแต่ด้วยเหตุที่กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมิได้กำหนดระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งไว้และในบางครั้งกกต. มิได้ประกาศผลการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในเวลาอันสมควรนับแต่วันเลือกตั้งส่งผลให้เกิดปัญหาในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ วิทยานิพนธ์เล่มนี้มุ่งศึกษาถึงการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่เกี่ยวกับลักษณะปัญหาและสาเหตุที่มาของปัญหาทางกฎหมายตลอดจนศึกษาวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายอื่นๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นประชาชนในท้องถิ่นและอปท. ทั้งนี้เพื่อจักได้นำมาวิเคราะห์กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป จากการศึกษาผู้เขียนพบว่าในการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นมีปัญหาทางกฎหมายที่สำคัญสองประการอันไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายมหาชนและส่งผลต่อการบริหารงานท้องถิ่นคือ ประการแรก ปัญหาทางกฎหมายจากการที่ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งล่าช้า เนื่องจากกฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ให้ชัดเจนเสมือนหนึ่งว่า กกต. อาจพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อใดก็ได้ซึ่งแท้ที่จริงหาก กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งของอปท. ใดภายหลังวันเลือกตั้งนานจนเกินไปย่อมส่งผลให้อปท. นั้นไม่มีสมาชิกสภาท้องถิ่นและ/หรือผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อปฏิบัติภารกิจหน้าที่ต่างๆ อันอาจส่งผลกระทบในด้านลบต่อประชาชนในเขต อปท. นั้นไม่มากก็น้อยและประการที่สอง การใช้อำนาจของกกต. ตามรัฐธรรมนูญโดยแฉพาะอย่างยิ่งการประกาศผลการเลือกตั้งนั้นปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรและกลไกในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของ กกต. ลักษณะเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวผู้เขียนจึงเสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 โดยกำหนดระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ให้ชัดเจนว่า กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันและในการนี้ควรกำหนดบทบัญญัติให้อำนาจแก่ กกต. ในการมอบอำนาจให้คณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดทำหน้าที่ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดนั้นๆ แทน กกต. นอกจากนี้ผู้เขียนยังเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลเลือกตั้งขึ้นใหม่ในระบบศาลยุติธรรมของไทยเพื่อให้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเลือกตั้งโดยเฉพาะอยางยิ่งคดีเกี่ยวกับการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต. อันจะเป็นการสอดคล้องกับหลักการต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น