Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภาคกลางในนวนิยายและเรื่องสั้นของวัฒน์ วรรลยางกูร จากนวนิยาย 11 เรื่อง เรื่องสั้น 94 เรื่อง จากการศึกษาพบว่าวรรณกรรมของวัฒน์ วรรลยางกูร แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก พ.ศ. 2513-2524 เสนอภาพความเปลี่ยนแปลงของชนบทในสังคมไทยภาคกลางตามทฤษฎีวรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยเสนอว่าสังคมชนบทมีสภาพล่มสลาย ชีวิตของชาวนาชาวไร่และผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบ และอิทธิพลของวัฒนธรรมใหม่จากสังคมเมือง ชนบทมีสภาพเป็นสังคมที่ถูกกระทำ ผู้เขียนใช้วรรณกรรมชี้นำประชาชนไปสู่สังคมที่ดีกว่าโดยการต่อสู้เรียกร้องความชอบธรรมในสังคมด้วยพลังมวลชน วรรณกรรมช่วงที่ 2 (พ.ศ.2525-2541) เสนอภาพความเปลี่ยนแปลงของชนบทในสังคมไทยภาคกลางที่ได้รับผลกระทบจากวาทกรรมการพัฒนาของรัฐ อันได้แก่ การพัฒนาทางคมนาคม ความเป็นสังคมเมือง ความเป็นสังคมอุตสาหกรรม ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม อิทธิพลของสื่อและเทคโนโลยี และการย้ายถิ่นเข้าไปทำงานในเมือง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของสังคมชนบท วัฒน์เสนอทัศนะอย่างชัดเจนว่าการที่รัฐมุ่งพัฒนาความเจริญทางวัตถุเพียงด้านเดียว มิได้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาเสนอแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและยั่งยืนเป็นทางออกในการสร้างสังคมชนบทให้เป็นสังคมที่สงบสุขอย่างยั่งยืน