Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาถึงสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามแนวความคิดว่าด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านขององค์การระหว่างประเทศและกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างขอบเขตที่ชัดเจนของสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่กฎหมายไทยควรให้ความคุ้มครอง จากการศึกษาพบว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นผลของการสร้างสรรค์ทางปัญญา ด้วยเหตุนี้ภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะที่มีความแตกต่างจากแนวความคิดในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยทั่วไป การนำระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันมาใช้ในการให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม อีกทั้งระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันไม่ได้ให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมภูมิปัญญาพื้นบ้านทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านของหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านของประเทศไทย ถูกชาวต่างชาติฉกฉวยและนำไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ ดังนั้น บางประเทศจึงได้มีการให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาพื้นบ้านของประเทศตนโดยกรใช้กฎหมายลักษณะเฉพาะ (Sui Generic Law) สำหรับการให้ความคุ้มครองภูมิปัญญาพื้นบ้านของประเทศไทยนั้น จากการศึกษาพบว่า แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาพื้นบ้าน อันได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 แล้วก็ตาม แต่กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเพียงการให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาพื้นบ้านเพียงบางส่วนเท่านั้น จากปัญหาดังกล่าว นำมาซึ่งความจำเป็นที่ประเทศไทยควรมี “กฎหมายลักษณะเฉพาะ” ในการให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาพื้นบ้านซึ่งเป็นผลของการสร้างสรรค์ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรม ทั้งนี้กฎหมายลักษณะเฉพาะดังกล่าว ควรเป็นการให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมภูมิปัญญาพื้นบ้านทั้ง 3 สาขาอันได้แก่ 1) ทรัพยากรพันธุกรรม 2) องค์ความรู้ นวัตกรรม และการสร้างสรรค์พื้นบ้าน และ 3) การแสดงออกทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน