Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกลักษณ์ชุมชน และการท่องเที่ยวของเขตสัมพันธวงศ์ โดยระบุถึงเอกลักษณ์ชุมชนของเขตสัมพันธวงศ์ และเอกลักษณ์ใดที่เป็นปัจจัยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่พื้นที่ รวมทั้งศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาเอกลักษณ์ชุมชนและแนวโน้มที่ดีของการท่องเที่ยวไว้สืบต่อไป ผลการศึกษาพบว่า สัมพันธวงศ์เป็นเขตชั้นในที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร และมีบทบาทเป็นย่านพาณิชยกรรมมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงเทพมหานครจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากวิถีชีวิตของชนชาวจีนที่นิยมการค้าขาย ปัจจุบันเขตสัมพันธวงศ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เนื่องด้วยเอกลักษณ์ชุมชนที่มีความโดดเด่น ประกอบไปด้วย เอกลักษณ์ทางด้านกายภาพ ได้แก่ ลักษณะอาคารและสิ่งปลูกสร้าง อาทิ วัดไตรมิตรวิทยาราม ศาลเจ้าเล้งบ๊วยเอี้ยะ เป็นต้น ที่ตั้งและสภาพแวดล้อมของเมืองการเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวก เนื่องจากเป็นย่านการค้าใจกลางเมือง เอกลักษณ์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กิจกรรมทางการค้า รูปแบบการค้า โดยประกอบไปด้วยย่านการค้า เช่น ย่านเยาวราช ย่านสำเพ็ง ย่านคลองถม เป็นต้น และแต่ละย่านการค้าก็มีคุณลักษณะเฉพาะตามประวัติความเป็นมาและกิจกรรมของย่าน ส่วนเอกลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม ได้แก่ วิถีชีวิตชาวจีน ประเพณีและวัฒนธรรม และงานเทศกาลต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นชุมชนเมืองจีน (China town) ในกรุงเทพฯ โดยจากเอกลักษณ์ชุมชนทั้งหมดที่กล่าวมา เอกลักษณ์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ นอกจากนี้ลักษณะของสัมพันธวงศ์ที่เป็นย่านการค้าต่าง ๆ มารวมตัวกัน แต่ละย่านมีความหลากหลายของสินค้าจะเกิดเป็นแรงดึงดูดทางการท่องเที่ยวได้มากขึ้น และจากการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวสัดส่วนของความประทับใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาสู่เขตสัมพันธวงศ์ระหว่างเอกลักษณะทางกายภาพ เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม คิดเป็นอัตราส่วน 6 : 54 : 40 แต่จากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในพื้นที่ ทั้งทางตรง คือ จากตัวนักท่องเที่ยวเอง และทางอ้อม คือ จากกิจกรรมการบริการนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ผลกระทบในทางบวกคือ ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนขึ้นอย่างมากในเขตสัมพันธวงศ์ ขณะที่การท่องเที่ยวก็ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเอกลักษณ์ชุมชน รวมถึงในด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ที่สำคัญได้แก่ คุณค่าสินค้าท้องถิ่นถูกทำลาย เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมและความสะอาดของชุมชน เกิดปัญหายาเสพติด และอาชญากรรม เป็นต้น ดังนั้น จึงได้มีการเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่จะพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ เช่น มีการปรับปรุงทางเท้าเพื่อรักษาความเชื่อมโยงระหว่างย่านการค้าต่าง ๆ ไว้ ด้านเศรษฐกิจ เช่น มุ่งเน้นการพัฒนาและรักษารูปแบบการค้าที่สำคัญของแต่ละย่าน และด้านสังคม เช่น สร้างความร่วมมือในการป้องกันปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ โดยใช้ทั้ง 3 ด้านอย่างบูรณาการที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ชุมชน ซึ่งเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน